ใครบอกตัวเองว่า การ ปฐมพยาบาล ไม่เห็นจำเป็นต้องรู้ เรื่องง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ หรือ ไม่เป็นไรหรอก ไปโรงพยาบาลก็ได้ หากใครมีความคิดแบบนี้ เราขอให้คุณเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ ยิ่งถ้าหากว่า คุณเป็นคนชอบเที่ยวด้วยแล้วล่ะก็ เรียนรู้ไว้บ้างเถอะ จะดีต่อชีวิต !!
การปฐมพยาบาล คืออะไร ลองมาแกะความหมายคร่าวๆ ทีละคำดูมั้ยคะ
ปฐม คือ เบื้องต้น พยาบาล คือ การดูแลช่วยเหลือเพื่อให้บรรเทา
ดังนั้นปฐมพยาบาลก็คือ การให้ความช่วยเหลือต่อผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย ในสถานที่เกิดเหตุโดยใช้อุปกรณ์เท่าที่หาได้ ณ ขณะนั้น ก่อนที่จะส่งต่อไปยังแพทย์ที่โรงพยาบาลนั่นเองล่ะค่ะ
ส่วนเป้าหมายของการปฐมพยาบาล ก็คือ เพื่อช่วยชีวิต, เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ, เพื่อป้องกันความพิการ และเพื่อช่วยให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ฟังดูเหมือนว่าจะเวอร์ ใช่มั้ยคะ แต่ความจริงแล้ว ชีวิตของคนเรานั้น มันสั้นนัก อย่างที่พระท่านว่าไว้จริงๆ เพียงแค่เสี้ยววินาทีเดียว อาจจะเปลี่ยนให้คนคนนั้น รอด หรือว่าเสียชีวิตไปเลยก็ได้ ดังนั้น วันนี้เราจะมาแชร์เรื่องของความเชื่อของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เราได้พบได้เจอในชีวิตประจำวันกันว่า แบบไหน ถูก แบบไหนผิด เพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถนำความเชื่อเหล่านี้ไปช่วยเหลือคนได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
อ้ะๆๆ…แต่ข้อมูลที่เรานำมาเสนอในวันนี้ ไม่ได้หยิบมาแบบมั่วๆนะคะ เพราะเราผ่านการอบรมจากชมรมเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว ดังนั้น มั่นใจได้ค่ะ ว่าไม่มั่วชัวร์…!!
เอาหล่ะ..มาดูกันดีกว่าว่า เราจะเอาข้อมูลอะไร มาฝากทุกท่านกันบ้าง…
1. แผลฟกช้ำ
หมายถึง : แผลที่ไม่ฉีดขาด แต่เป็นแผลที่เกิดจากการกระแทก การล้มต่างๆ
Do : ประคบเย็น
Do : หากเป็นบริเวณที่ต้องเคลื่อนไหว เช่น ข้อมือ หรือข้อเท้า ให้ใช้วิธีพันผ้าเพื่อช่วยพยุงให้
เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
Don’t : ประคบร้อน (เพราะจะทำให้พองบวม)
2. แผลแยก
หมายถึง : แผลที่เกิดจากการฉีกขาดของผิวหนัง แบ่งเป็น 4 ประเภท
(1) แผลถลอก อาจเกิดจากของมีคมขูด
Do : – ล้างให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด
– ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆบาดแผล จากนั้นทาด้วยโพวีดีน(เบตาดีน)
– ไม่ต้องปิดบาดแผล ยกเว้นแผลนั้นอยู่ที่เท้า (ให้ใช้ผ้าก๊อสสะอาดปิดเพื่อกันฝุ่น)
Don’t : ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ล้าง
– ฉีกแผล
– ล้างแผลด้วยน้ำไม่สะอาด
(2) แผลตัด อาจเกิดจากมีดบาด กระจกบาด
Do : – หากเป็นแผลใหญ่ ให้ห้ามเลือดโดยใช้นิ้วสะอาดหรือผ้ากดลงบนบาดแผล
– ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด จากนั้นทาด้วยโพวีดีน(เบตาดีน)
– ผิดแผลด้วยพลาสเตอร์
Don’t : – ห้ามถูกน้ำ
(3) แผลฉีกขาด อาจเกิดจากสุนัขกัด, ระเบิด, รถชน
Do : – ห้ามเลือดโดยผ้าสะอาดกดลงบนบาดแผล
– ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าพันให้แน่นพอสมควร
– ส่งโรงพยาบาล
Don’t : – ไม่ห้ามเลือดโดยวิธีการกดเส้นเลือดแดงร่วมกับการใช้ผ้ากด
3. แผลถูกยิง หรือ แทง
หมายถึง : แผลที่เกิดจากของแข็งทะลุเข้าไปใต้ผิวหนัง ขนาดเล็กแต่ลึก เลือดออกไม่มากแต่เลือกตกอยู่ภายใน
Do : – เดินทางไปที่โรงพยาบาลโดยด่วน
– ระหว่างเดินทาง ให้ช่วยห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดกดและใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ
– หากผู้บาดเจ็บหยุดหายใจ ให้รีบผายปอด หรือนวดหัวใจ
Don’t : – อย่าชะล่าใจ ควรสังเกตอาการผู้บาดเจ็บตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือให้ได้ทันท่วงที
4. เหล็กในจากแมลง
อาการ : บวม แดง คัน ปวด
Do : – นำเหล็กในออก โดยใช้ลูกกุญแจกดตรงกลางของรอยที่ถูกต่อย แล้วหยิบหรือคืบเหล็กในออก
– ใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ (แอมโมเนีย) ทาให้ทั่วแผล
– ประคบแผลด้วยน้ำแข็ง (ในกรณีแผลบวมมาก)
– รับประทานยาแก้ปวด (ในกรณีปวด)
– พบแพทย์ และแจ้งชื่อแมลงที่กัด
Don’t : ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่นำเหล็กในออก
5. แมงป่องต่อย หรือ ตะขาบกัด
อาการ : ปวดบวมมาก มีไข้สูง คลื่นไส้ เกร็งชัก
Do : – ใช้สายรัดขันชเนาะเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันพิษกระจาย
– กดให้เลือดไหลออกมามากที่สุด เพื่อเอาพิษออก
– ใช้แอมโมเนีย หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน 2.5% ทาให้ทั่วแผล
– ใช้น้ำแข็งประคบ (ในกรณีปวด)
– พบแพทย์ และแจ้งชื่อแมลงที่กัด
Don’t : ห้ามเลือด
6. แมงกระพรุนไฟ
อาการ : ปวดแสบ ปวดร้อน, ผิวหนังไหม้ บวมพอง เป็นลม หมดสติ และแรงสุดคือถึงแก่ชีวิต
Do : – ใช้น้ำทะเลราดบริเวณแผลมากๆ
– ใช้แป้งโรยบริเวณนั้น แล้วใช้มัดขูดถุงพิษออก
– ใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ (แอมโมเนีย, น้ำปูนใส) ชุบใส่สำลีและปิดแผล
– รับประทานยาแก้ปวด
– พบแพทย์
Don’t : ห้ามใช้น้ำจืดล้าง และทรายถูแผล เพราะจะทำให้แผลแตกและถลอกได้
7. จมน้ำ
Do : นวดหัวใจ, ผายปอด
Don’t : ห้ามพาดบ่า เพราะจะทำให้น้ำไม่ไหลออกจากปอด
8. หูอื้อ
Do : – ในกรณีป่วยให้รับประทานยาแก้แพ้ก่อนขึ้นเครื่องบิน
– หาว, เคี้ยวหมากฝรั่ง
เพราะในการเดินทางท่องเที่ยว อาจเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การที่เรารู้จักการปฐมพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ค่ะ กันไว้ดีกว่ามาแก้ จริงมั้ยล่ะคะ…?