ครั้งนี้มัชรูมทราเวลได้รับเกียรติจาก Guest สุดพิเศษ ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ เที่ยวญี่ปุ่น แบบสายลุย จะพาไป ปีนภูเขาไฟฟูจิ !! การเดินทางครั้งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ
3D2N คู่มือพิชิตยอดฟูจิ Fujisan คาวากุจิโกะ Kawaguchiko โตเกียว Tokyo คนเดียวก็เที่ยวได้ ตอนที่ 1
เที่ยวญี่ปุ่น ทริปนี้กับการพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิ ท่องเที่ยวคาวากุจิโกะ และโตเกียว บอกเลยว่าเป็นทริปที่ไม่ง่ายเลยทีเดียวกับการ ปีนภูเขาไฟฟูจิ ที่หลายคนมีความใฝ่ฝันว่าชีวิตนี้ต้องมีสักครั้งสำหรับคนที่ชอบการท่องเที่ยวญี่ปุ่นและการปีนเขา แต่จะว่าไปเราเองก็ไม่ได้รักการปีนเขาหรอก แค่ชอบท่อง เที่ยวญี่ปุ่น และชีวิตนี้ต้องพิชิตภูเขาไฟให้ได้
การพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจินั้นไม่ยากอย่างที่เราคิดหากถ้าเรามีความพร้อมจะลุย และการเตรียมร่างกายให้พร้อมถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งในหนึ่งปีจะเปิดให้ ปีนภูเขาไฟฟูจิ ได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 10 กันยายน เท่านั้น สำหรับความสูงของภูเขาไฟฟูจิคือ 3,776 เมตร สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจพิชิตภูเขาไฟฟูจิ เที่ยวรอบคาวากุจิโกะ เที่ยวโตเกียว รีวิวแบบละเอียด ค่าใช้จ่าย การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สามารถใช้เป็นคู่มือหรือแนวทางในการท่องเที่ยวได้
รีวิวแบ่งออกเป็น 16 ตอน DAY 1 – DAY 3 ในส่วนของบทความนี้ขอเริ่มต้นในวันที่เดินทางไป ปีนภูเขาไฟฟูจิ กันเลยค่ะ
Day2-2 เดินทางจากโตเกียวที่ ชินจุกุ – เดินทางไปยังจุดเริ่มต้นการปีนภูเขาฟูจิที่ สถานีภูเขาฟูจิที่ 5
Day2-3 ชมบรรยากาศรอบๆ สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5 และการเตรียมพร้อมก่อน ปีนภูเขาไฟฟูจิ, ช้อปอุปกรณ์ปีนเขาที่ La Mont
Day2-4 เส้นทางการปีนขึ้น “ภูเขาฟูจิ” จากสถานีภูเขาฟูจิที่ 5 ไปจนถึง สถานีภูเขาฟูจิที่ 7 ชมวิวที่สวยงาม พร้อมตารางการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และ Pass ต่างๆ – ที่พัก ฮานาโกยะ
Day2-5 เดินทางจากสถานีภูเขาฟูจิที่ 7 ไปจนถึงสถานีภูเขาฟูจิที่ 8 และเข้าพักที่ “โทโมเอะคัง สถานีหลักที่ 8”「Original 8th Stn. Tomoekan」
Day2-2 ออกเดินทางจากใจกลางเมืองโตเกียวที่ “ชินจุกุ” เพื่อเดินทางไปยังจุดเริ่มต้นการปีนภูเขาฟูจิที่ “สถานีภูเขาฟูจิที่ 5”
วันที่ 2 ของการเดินทาง หลังจากเช็คเอ้าท์ที่โรงแรม AKASAKA EXCEL HOTEL TOKYU เรียบร้อยแล้วก็ลงลิฟต์ไปที่ชั้น 1F เพื่อไปที่ทางออกโรงแรม เมื่อออกมานอกอาคารแล้วก็ข้ามทางม้าลายที่อยู่ตรงหน้าเพื่อข้ามไปถนนอีกฝั่ง เมื่อข้ามมาแล้วก็จะเห็นทางเข้าสถานีอากาซากะ มิสึเกะ ของรถไฟโตเกียวเมโทรอยู่ขวามือทันที เข้าไปด้านในสถานีเลย เมื่อเข้ามาแล้วก็ลงบันไดเลื่อนที่อยู่ขวามือ
เมื่อลงมาแล้วก็จะเจอลานกว้างจุดนัดพบสถานีของสถานีอากาซากะ มิสึเกะ อยู่ขวามือ เราสามารถใช้บัตร「Tokyo Subway 24 Hours Ticket」ที่สามารถนั่งรถไฟโตเกียวเมโทร และรถไฟใต้ดิน TOEI ได้ไม่อั้นใน 24 ชั่วโมง ที่ซื้อจากสนามบินนาริตะ ผ่านเข้าช่องตรวจตั๋วได้เลย เมื่อผ่านเข้ามาแล้วก็มุ่งหน้าไปที่ชานชาลารถไฟสายมารุโนะอุจิ
IC CARD เช่น Suica และ ICOCA ก็จะต้องทำการซื้อตั๋วก่อนผ่านเข้าช่องตรวจตั๋ว โดยก่อนอื่นจะต้องเช็คราคาตั๋วรถไฟจากบอร์ดแผนผังเส้นทางรถไฟที่อยู่บนเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งตั๋วไปสถานี “สถานีชินจุกุซันโจเมะ SHINJUKU-SANCHOME” ที่อยู่ใกล้ “ชินจุกุบัสเทอร์มินอล” มากที่สุด ราคาอยู่ที่ 170 เยน จากนั้นกด「Language」ที่บนขวาหน้าจอ เพื่อเลือกภาษาเป็น “ภาษาไทย” และกดปุ่มตามขั้นตอน และเลือกราคาตั๋ว 170 เยน เครื่องจำหน่ายตั๋วอัติโนมัติของโตเกียวเมโทรส่วนใหญ่จะรองรับภาษาไทย ด้วยเพราะฉะนั้นคลายกังวลเรื่องการซื้อตั๋วได้เลยค่ะ
เมื่อผ่านเข้าช่องตรวจตั๋วมาแล้วก็ไปทางซ้ายมือ เพื่อขึ้นรถไฟที่ชานชาลาสายมารุโนะอุจิ รถไฟสายมารุโนะอุจิจะวิ่งทุกๆ 3-5 นาที รถไฟทุกขบวนที่มาจอดจะมุ่งหน้าไปสู่「ชินจุกุซันโจเมะ SHINJUKU-SANCHOME」ทั้งหมด เพราะฉะนั้นขึ้นขบวนไหนก็ได้เลยค่ะ จาก อากาซากะมิสึเกะ นั่งไปสถานีชินจุกุซันโจเมะ จะต้องนั่งไป 4 สถานีใช้เวลา 7 นาที แป๊บเดียวเท่านั้น โดยที่สายมารุโนะอุจินั้นจะมีสถานีที่มีคำว่า “ชินจุกุ” อยู่ถึง 4 สถานีคือ「ชินจุกุเกียวเอ็น SHINJUKU-GYOEM」「ชินจุกุซันโจเมะ SHINJUKU-SANCHOME」「ชินจุกุ SHINJUKU」และ「นิชิชินจุ NISHI-SHINJUKU」ส่วนสถานีที่เป็นย่านช้อปปิ้งที่สะดวกที่สุดก็คือสถานี「ชินจุกุซันโจเมะ SHINJUKU-SANCHOME」ซึ่งหากนั่งเลยไปถึงสถานี “ชินจุกุ” เลยก็ต้องเดินย้อนกลับมาพอสมควรเลย เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูสถานีให้ดีนะคะ
เมื่อลงรถไฟที่สถานี ชินจุกุซันโจเมะ SHINJUKU-SANCHOME แล้วก็เดินไปตามทางเดินไปจนสุดทาง และขึ้นบันไดเลื่อนมาเพื่อไปที่ชานชาลารถไฟใต้ดินสายฟูกุโทะชิน FUKUTOSHIN LINE
เมื่อถึงชานชาลารถไฟใต้ดินสายฟูกุโทะชิน FUKUTOSHIN LINE แล้วก็เดินไปตามทางเดินยาวๆ ไปเรื่อยๆ จนสุดทาง เมื่อเจอบันไดเลื่อนแล้วก็ขึ้นบันไดเลื่อนไป และออกจากช่องตรวจตั๋วไป และเดินไปทางซ้ายมือ
เดินไปจนสุดทางก็จะเจอทางเข้าห้างและบันไดอยู่ซ้ายมือ ส่วนด้านขวามือจะเป็นลิฟต์ ให้ขึ้นลิฟต์ไปชั้นบนดินเลย เมื่อขึ้นมาแล้วก็ยูเทิร์นไปทางขวามือ เดินไปซักพักก็จะเจอบันไดเลื่อนอยู่ซ้ายมือ ให้ขึ้นไปเลย จะขึ้นมาสู่บริเวณระเบียง และขึ้นบันไดเลื่อนที่อยู่ตรงหน้าไปอีกรอบ
เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนมา 2 รอบแล้วก็จะเห็นสถานีชินจุกุ และวิวประตูทางเข้าออกใต้ของสถานีชินจุกุอยู่ด้านซ้ายมือ บรรยากาศรถไฟหลายขบวนวิ่งเข้าออกสถานีเป็นจำนวนมาก รู้สึกถึงเมืองโตเกียวจริงๆ เลยค่ะ วิวนี้เป็นวิวที่อยู่ในฉากภาพยนต์อนิเมะชื่อดัง “คิมิโนะนาวะ”「KIMI NO NAWA」อีกด้วย
ลงบันไดเลื่อนไปก็จะเจอบัสเทอร์มินอล「ชินจุกุบัสเทอร์มินอล」ที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียวอยู่ขวามือ ที่ ชินจุกุบัสเทอร์มินอล นี้จะมีทั้งรถบัสที่มุ่งหน้าไปสู่ ภูเขาฟูจิ, สนามบินนาริตะ, สนามบินฮาเนดะ, ดิสนีย์แลนด์ หรือระยะทางไกลอย่าง โอซาก้า, เกียวโต และไกลกว่านั้นก็คือ คิวชู, ฟูกุโอกะ อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่สามารถเชื่อมต่อไปได้ทั่วประเทศญี่ปุ่นเลย
โดยก่อนที่เราจะไปด้านในชินจุกุบัสเทอร์มินอล เราจะฝากของที่ไม่จำเป็นในการปีนเขาที่เป็นสัมภาระชิ้นใหญ่เอาไว้ที่ล็อคเกอร์ก่อน แม้ว่าภายใน ชินจุกุบัสเทอร์มินอล เองก็มีตู้ล็อคเกอร์เช่นกัน แต่ล็อคเกอร์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบคิดตามเวลา ราคาจะเพิ่มขึ้น 2 ชั่วโมงละ 100 ถึง 200 เยน (ขึ้นอยู่กับขนาด) ซึ่งหากเราฝากเป็นเวลา 2 วัน ค่าฝากก็จะแพงมาก เพราะฉะนั้นเราจะทำการฝากของที่ล็อคเกอร์ก่อนถึง ชินจุกุบัสเทอร์มินอล ซึ่งมีอยู่หลายขนาด
ขนาดเล็ก สามารถใส่ของกระเป๋าเป้ขนาดเล็ก หรือถุงของฝากต่างๆ ได้ 400 เยนต่อวัน
ขนาดกลาง สามารถใส่ประเป๋าเดินทางขนาดกลางได้ 500 เยนต่อวัน
และขนาดใหญ่ สามารถใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้ 600 เยนต่อวัน
ซึ่งเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วจะอยู่ชั้น 4F ของบัสเทอร์มินอล เมื่อฝากของเรียบร้อยแล้วยังไม่ต้องเข้าไปในบัสเทอร์มินอลค่ะ ขึ้นบันไดเลื่อนหน้าทางเข้าเลย เมื่อขึ้นมาแล้วเดินไปอีกซักพักก็จะเจอ “ชินจุกุบัสเทอร์มินอล”「Shinjuku Expressway Bus Terminal」อยู่ซ้ายมือ
ซึ่งด้านในอาคาร “ชินจุกุบัสเทอร์มินอล” ก็จะเจอเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติและเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วอยู่ตรงหน้า ซึ่งตั๋วรถบัสที่มุ่งหน้าไปสู่ “สถานีภูเขาฟูจิที่ 5” สามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วหมายเลข 5 รถบัสที่วิ่งจากชินจุกุไปสู่สถานีภูเขาฟูจิที่ 5 จะวิ่งวันละ 12 เที่ยว ตั้งแต่เช้า 06:45 น. ไปจนถึง 19:25 น. ราคา 2,700 เยน สามารถชำระเงินได้ด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ เพราะฉะนั้นซื้อตั๋วได้ง่ายไม่ต้องกังวลเลยค่ะ ของเราเลือกรถบัสรอบเช้า 09:35 น. ค่ะ
ภายในบัสเทอร์มินอลนี้นอกจากจุดจำหน่ายตั๋วแล้วยังมีทั้ง ห้องน้ำ ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของฝากของโตเกียว หรือพื้นที่อื่นๆ มากมาย สามารถซื้อขนมหรือเครื่องดื่มเอาไว้ทานในรถบัสระหว่างมุ่งหน้าไปภูเขาฟูจิได้นะคะ
จุดขึ้นรถบัสที่ชินจุกุบัสเทอร์มินอลก็จะต่างกันออกไปตามบริษัทรถบัสและสถานที่ที่จะไปค่ะ ซึ่ง “สถานีภูเขาฟูจิที่ 5” ที่เรากำลังจะมุ่งหน้าไปตอนนี้รถบัสจะออกจากประตู 「B5」รถบัสของเราเป็นลายอนิเมะทั้งคันเลย ตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะ
เมื่อเข้ามาด้านในแล้วก็จะเป็นที่นั่งเรียงกันฝั่งละสองแถว แต่ละที่นั่งมีปลั๊กให้ชาร์ตแบตได้อีกด้วย เราจะใช้เวลาเดินทางจากชินจุกุไปสถานีภูเขาฟูจิที่ 5 ระหว่างทางจะผ่านสวนสนุกฟูจิคิวไฮแลนด์ ชิราคาวาโกะ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 35 นาที จะไม่มีการพักเข้าห้องน้ำระหว่างทาง แต่ด้านหลังรถจะมีห้องน้ำอยู่เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเลยค่ะ
บัสจะออกจากด่านชินจุกุที่มีแต่ตึกสูง ไปเพื่อเข้าสู่เส้นทางธรรมชาติเรื่อยๆ และเมื่อนั่งไปประมาณ 2 ชั่วโมงเราก็จะเริ่มเข้าสู่เส้นทางขึ้นภูเขาฟูจิ「FUJI SUBARU LINE 富士スバルライン」กันเลยค่ะ ระหว่างทางก็จะได้ชมวิวภูเขาฟูจิที่งดงาม เส้นทางธรรมชาติ แป๊บเดียวเท่านั้นก็มาถึงที่หมายที่ “สถานีภูเขาฟูจิที่ 5” ที่มีความสูง 2,305 เมตร จากความสูงทั้งหมดที่ 3,776 เมตร
เริ่มด้วยการท่องเที่ยวจากโตเกียว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง มายัง “เส้นทางซูบะรุ ฟูจิสถานีที่ 5”「FUJI SUBARU LINE STATION 5」แค่ที่นี้ก็มีอะไรให้เที่ยวแล้ว จุดนี้จะมีลานกว้างเล็กๆ และกระท่อมบนเขาที่มีของฝากจำหน่ายอยู่ นักท่องเที่ยวครึกครื้นกันมากเลยค่ะ ซึ่งทางเข้าเส้นทางภูเขาฟูจิจะมีอยู่ 4 ที่ก็คือ “โยชิดะ กุจิ”「YOSHIDA GUCHI吉田口」 “ชิบะชิริ กุจิ”「SHIBASHIRI GUCHI須走口」 “ฟูจิมิยะ กุจิ”「FUJIMIYA GUCHI富士宮口」และ “โกเท็มบะ กุจิ”「GOTEMBA GUCHI御殿場口」ซึ่งเส้นทางที่สะดวกและได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ “โยชิดะกุจิ”「 YOSHIDA GUCHI」จาก “เส้นทางซูบะรุ ฟูจิสถานีที่ 5” นักท่องเที่ยวที่มาปีนภูเขาฟูจิกว่าครึ่งจะใช้เส้นทางนี้ค่ะ
ก่อนอื่นเราจะไปศาลเจ้า 「FUJISAN KOMITAKE SHRINE」เพื่อขอพรให้เราเดินขึ้นภูเขาฟูจิได้อย่างราบรื่นตลอดการเดินทางค่ะ โดยเดินเยื้องๆ ไปซ้ายของลานกว้างจะเห็นโทริอิอยู่ ให้ผ่านเข้าไปและตรงไปเลย ก็จะเข้ามาสู่บริเวณศาลเจ้า「FUJISAN KOMITAKE SHRINE」ซึ่งแม้ว่าด้านซ้ายมือจะมีอ่างน้ำชำระล้างร่างกายอยู่แต่น้ำที่นี่ไม่ไหลค่ะ เนื่องจากบนความสูง 2,305 เมตร นี้จะไม่มีน้ำไหลอยู่ ที่ “เส้นทางซูบะรุ ฟูจิสถานีที่ 5” เพราะฉะนั้นถือว่าน้ำเป็นอะไรที่หายากและสำคัญมากๆ เลยค่ะ ห้องน้ำที่นี้ก็จะแตกต่างจากชักโครกทั่วไปและจุดล้างมือก็จะมีอยู่จำกัดค่ะ
ผ่านจุดชำระล้างร่างกายไปก็ผ่านโทริอิหินเพื่อเข้าไปสู่อาคารหลักของศาลเจ้ากันค่ะ “ภูเขาฟูจิ” ที่กลายเป็นหนึ่งในภูเขาขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นนั้น เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ「โคมิทาเกะ KOMITAKE 」และ「โคะฟูจิ KOFUJI」จนกลายมาเป็นภูเขาฟูจิ ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้เดิมที่เคยตั้งอยู่บนยอดภูเขา「โคมิทาเกะ KOMITAKE」ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1518 หรือมากกว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา และเป็นศาลเจ้าที่ผู้คนนิยมกราบไหว้สักการะขอพรให้สามารถปีนขึ้นภูเขาฟูจิได้สำเร็จและปลอดภัย ก่อนการเดินทางขึ้นภูเขาฟูจิมายาวนานจนถึงปัจจุบัน
ด้านในอาคารศาลเจ้าหลักจะมีทั้งเซียมซี (100 เยน) หรือเครื่องรางของขลังต่างๆ จำหน่ายอยู่มากมาย และเทพเจ้าที่ถูกประดับอยู่ภายในอาคารศาลเจ้าหลักก็คือเทพเจ้าที่มีจมูกยาว เทพเจ้าเท็งงุ TENGU SAMA (ด้านบนภาพ) ว่ากันว่าเทพเจ้าเท็งงุจมูกยาวนี้เป็นเทพเจ้าแห่งการเปิดภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งจะออกมาในพิธีกรรมทางศาสนาในเทศกาลเปิดเส้นทางภูเขาฟูจิ เทศกาลไคซัน KAIZANSAI ในวันที่ 1 เดือนกรกฏาคมนั่นเอง
และเข้าไปลึกสุดศาลเจ้าก็จะมีจุดชมวิวที่สามารถชมวิว ชิราคาวาโกะ หรือทางฝั่งทะเลสาบยามานากะได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังจากปิดเส้นทางภูเขาฟูจิ วันที่ 10 เดือนกันยายน บริเวณโดยรอบก็จะค่อยๆ เข้าสู่บรรยากาศฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนกันยายนใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี จนกระทั่งเดือนตุลาคมก็จะเป็นช่วงที่สามารถชมใบไม้เปลี่ยนสีได้อย่างสวยงาม
Day2-3 ชมบรรยากาศรอบๆ สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5 และการเตรียมพร้อมก่อนปีนขึ้น “ภูเขาฟูจิ”
“ภูเขาฟูจิ” ที่แม้แต่นักปีนเขามือใหม่ก็สามารถปีนเขาได้ แต่การจะปีนขึ้นไปสู่ความสูง 3,776m นั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างดี และรอบคอบ ทั้งกายและใจ
ครั้งนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปดูบรรยากาศรอบๆ สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5 และการเตรียมพร้อมที่จำเป็นก่อน ปีนภูเขาไฟฟูจิ กันค่ะ
「สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5」ที่เป็นหนึ่งใน 4 ทางขึ้นไปสู่ภูเขาฟูจิ จะมีกระท่อมบนเขาล้อมรอบลานกว้างอยู่ที่จุดนี้ ซึ่งที่กระท่อมแห่งนี้จะมีทั้งร้านอาหาร ล็อคเกอร์ ที่พัก และจุดจำหน่ายเช่ายืมอุปกรณ์ปีนเขาอยู่ด้วยค่ะ เราสามารถทานอาหาร และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทางปีนเขาได้ที่นี่เลย
ซึ่งครั้งนี้เราเลือกเตรียมความพร้อมที่ “ฟูจิซัง มิฮาราชิ”『MOUNT FUJI MIHARASHI』หนึ่งในที่พักบริเวณนี้กันค่ะ
ก่อนอื่นเราจะทานอาหารให้อิ่มก่อนออกเดินทาง เพราะว่าเราจะไม่สามารถทานอาหารมื้อจริงจังได้ระหว่างทางขึ้นและลงภูเขาฟูจิเลย ซึ่งที่ชั้น 2F ของ “ฟูจิซัง มิฮาราชิ”「MOUNT FUJI MIHARASHI」จะมีร้านอาหารชื่อ “มิฮาราชิ คิทเช่น”「MIHARASHI Kitchen」เราจะเข้าไปในตึกและเดินไปทางซ้ายจนสุดทางเพื่อขึ้นบันไดไป เมื่อขึ้นมาแล้วก็จะเจอตู้จำหน่ายคูปองและเมนูอยู่ตรงหน้าเลย
เมนูภายในร้านก็มีให้เลือกมากมาย “ราเม็งฟูจิซัง”「FUJISAN RAMEN 富士山ラーメン」(800 เยน) “แกงกะหรี่ภูเขาไฟระเบิด”「FUNKA CURRY 噴火カレー」(950 เยน) หรือ “ชุดเซ็ตข้าวหน้าซอสคัตสึ”「SAUCE KATSUDON ZEN ソースかつ丼膳」(1,100 เยน) เป็นต้น ซึ่งเมนูจะมีทั้งภาพและชื่อภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย โดยวิธีซื้อก็คือ ใส่เงินเข้าไป และเลือกอาหารที่ต้องการทานเท่านั้น มีภาษาอังกฤษกำกับตอนซื้อด้วยเพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลยค่ะ
เมื่อซื้อคูปองอาหารเรียบร้อยแล้วก็นำมายื่นที่เคาท์เตอร์สั่งอาหารที่อยู่ซ้ายมือ ที่คูปองจะมีตัวเลขกำกับอยู่ ถ้าอาหารเสร็จแล้วพนักงานก็จะประกาศตัวเลขนั้น เมื่อถูกเรียกแล้วก็สามารถรับอาหารที่เคาท์เตอร์ได้เลย
ภายในร้านกว้างขวาง มีที่นั่งมากกว่า 100 ที่นั่ง สามารถรองรับแขกที่มาเป็นกลุ่มได้สบาย วันที่ไปก็มีกลุ่มคนไทยมาใช้บริการพอดีเลยค่ะ ร้านอาหารจะเป็นห้องกระจกที่สามารถชมวิวด้านนอกไปพร้อมกันเลย
เมื่อทานอาหารเรียบร้อยแล้ว เราจะไปที่ชั้น 1F ตึก “ฟูจิซัง มิฮาราชิ”「MOUNT FUJI MIHARASHI」เพื่อไปร้านเช่ายืมอุปกรณ์ปีนเขาที่ร้าน『La Mont』เตรียมอุปกรณ์ให้ครบที่นี่ เดินจากทางเข้าไปจนสุดทางก็จะเจอเคาท์เตอร์เช่ายืม
ร้าน「La Mont」จะมีอยู่ 2 สาขาคือ สาขาหนึ่งอยู่หน้าทางเข้าสวนสนุกฟูจิคิวไฮแลนด์ ส่วนอีกสาขาตั้งอยู่ที่นี่ “สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5” ซึ่งการเช่ายืมที่นี่จะต้องจองก่อนล่วงหน้า 3 วัน สามารถดำเนินการจองได้ทางเบอร์โทรศัพท์ที่แสดงอยู่บนเว็บไซต์ หรือ Email เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ก็ดำเนินการจองผ่านทางเว็บไซต์ได้เลย เจ้าของร้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ยังไงลองมาเช่ายืมอุปกรณ์กับเจ้าของร้านผู้เชี่ยวชาญการปีนเขาดูนะคะ
และเราจะมาเรียงรายการสิ่งที่จำเป็นในการปีนภูเขาฟูจิกันค่ะ
สิ่งที่จำเป็นในการปีนเขา
เพื่อป้องกันความปลอดภัยระหว่างการปีนจะมีอยู่ 6 สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ
เครื่องกันหนาว เนื่องจากบนยอดเขามีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา อีกทั้งยังมีลมพัดแรง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ
รองเท้าปีนเขา เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางขรุขระเต็มไปด้วยหินทั้งใหญ่และเล็ก ไม่สามารถปีนขึ้นได้ด้วยรองเท้ากีฬา เพราะอาจได้รับบาดเจ็บ
เครื่องกันฝน สภาพอากาศบนเขาแปรปรวนตลอดเวลา ดังนั้นเสื้อกันฝนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สามารถใช้เป็นเสื้อกันลมได้อีกด้วย
ถุงมือ จำเป็นต้องใช้แบบกันน้ำและสำหรับการปีนเขาโดยเฉพาะ ขณะลงเขาจะมีทางลาดชันที่อาจลื่นล้มได้ แม้แต่นักปีนเขาที่เชี่ยวชาญก็มีโอกาสลื่นได้ ถึงร้อนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
กระเป๋าเป้ ที่มีขนาดประมาณ 30-35ℓ ไม่ควรใหญ่เกินกำลังของตัวเอง
ไฟฉายติดศรีษะ ใช้เวลากลางคืน และเมื่อสภาพอากาศแปรปรวน ไม่สามารถเดินปีนเขาในความมืดบนเส้นทางผาหิน
และนี่ก็คือสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่จะต้องมี สามารถจองอุปกรณ์ทั้งหมดล่วงหน้า 3 วันได้ที่「La Mont」ในกรณีไม่สามารถเช่ายืมได้ก็สามารถซื้อได้ที่ “สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5”
และอุปกรณ์อื่นๆ อีก 6 สิ่งที่เตรียมไว้ก็จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้นมีดังนี้
ไม้ค้ำ เพื่อการทรงตัวขณะลงเขาที่ลื่นและชัน
แว่นกันแดด ป้องกันขณะเดินเส้นทางทรายฟุ้งกระจาย
ครีมกันแดด แน่นอนว่าตลอดเส้นทางระหว่างปีนเขาจะไม่มีสิ่งบังแดด
เครื่องปฐมพยาบาล / ยา จำพวกพลาสเตอร์ปิดแผล ข้อควรระวังคือ ยาสำหรับป้องกันโรคจากขึ้นที่สูงจะปกปิดอาการที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการควรลงเขาทันที
อาหารยังชีพ แนะนำให้ซื้อแบบเยลลี่ ไม่ควรเลือกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป
น้ำ ระหว่างเริ่มเดินทางไปจนถึงสถานีที่ 7 จะไม่มีเครื่องดื่มจำหน่ายอยู่เลย เฉพาะฉะนั้นควรเตรียมน้ำไปประมาณ 1ℓ ไม่ควรนำไปมากเกินกำลัง
ซึ่งนอกจาก「สิ่งที่จำเป็นขาดไม่ได้」6 อย่าง และ「สิ่งที่มีเอาไว้ก็ดี」6 อย่างที่ได้ยกไปข้างต้นนี้แล้วก็มีสิ่งอื่นๆ ที่ควรเตรียมตัวเอาไว้ก็คือ
การแต่งกายชั้นในที่แห้งเร็ว
รวมไปถึงผ้าขนหนูแบบแห้งเร็ว
เป็นชุดที่ทนต่อฝน ไม่แนะนำให้ใส่ยีนส์ เพราะยีนส์จะซับน้ำทำให้หนักและเดินลำบาก
ซึ่งเราควรจะเตรียมความพร้อมที่จำเป็นและเอื้ออำนวยต่อการปีนเขา ไม่ควรนำสิ่งของที่ไม่จำเป็นขึ้นไป อย่างเช่น อาหารหรือน้ำที่มากเกินความจำเป็น หรืออุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ อย่างขากล้อง หรือกล้องตัวใหญ่ หากหนักหรือมากเกินไปก็จะทำให้เดินขึ้นลำบากและตัดกำลังได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งที่「La Mont」นี้เราสามารถเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้นที่ต้องมีและขาดไม่ได้ทั้ง 6 อย่าง รวมแล้วสามารถยืมได้ทั้งเซ็ตในราคา 9,970 เยน นอกจากนี้ยังมีเพอร์เฟคเซ็ตที่มี ถุงมือ ถุงเท้า (แบบสินค้าใหม่ไม่ต้องคืน) เสื้อ Fleece เพิ่มเติมในราคา 16,890 เยน ซึ่งหากซื้อใหม่ทั้งหมดก็จะอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 3 หมื่นบาท หากเพื่อนๆ คนไหนมีโอกาสปีนเขาบ่อยๆ ก็แนะนำให้ซื้อเอาไว้เลย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เอ้าท์ดอร์ “โคจิสึซันโซ”「KOJITUSANSO」หรือหากไม่มีโอกาสปีนเขาบ่อยก็สามารถเช่ายืมได้เลย
สามารถฝากสิ่งของที่ไม่จำเป็นได้ที่ล็อคเกอร์ บริเวณ “ฟูจิซัง มิฮาราชิ”「MOUNT FUJI MIHARASHI」ชั้น 1F ซ้ายมือ ก่อนถึงบันไดเพื่อขึ้นไปสู่ร้านอาหารมีอยู่ 2 ขนาด คือขนาดเล็ก สามารถใส่สัมภาระขนาดเล็ก 300 เยน ขนาดกลาง สามารถใส่กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก 400 เยน ราคานี้จะเป็นค่าบริการต่อการใช้งานหนึ่งครั้ง กลับมาเอาของในวันถัดไปก็ไม่มีการคิดเงินเพิ่มค่ะ
เมื่อฝากของเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทาง………..อีกนิดเดียวค่ะ เรามีสิ่งที่อย่างทำอยู่อีกหนึ่งอย่าง เดินออกจาก “ฟูจิซัง มิฮาราชิ”「MOUNT FUJI MIHARASHI」ไปทางขวามือ เพื่อเดินไปทาง「GOGOEN RESTHOUSE」
ซึ่งที่ GOGOEN RESTHOUSE นี้จะมีจุดจำหน่ายไม้เท้าที่เรียกว่า “คงโกซึเอะ”「KONGOUDUE」ซึ่งไม้เท้านี้นอกจากจะสามารถใช้เป็นไม้ค้ำระหว่างเดินขึ้นเขาแล้ว ระหว่างทางสามารถประดับตราบนไม้ได้ตามกระท่อมที่พักบนเขาได้ทุกจุด (1 ครั้งประมาณ 500 เยน) เหมือนกิจกรรมสะสมสแตมป์ Stamp Rally เก็บกลับบ้านได้เป็นความทรงจำดีๆ ในการ ปีนภูเขาไฟฟูจิ ได้เลยค่ะ แต่ทว่า ไม้เท้านี้จะไม่สามารถพับเก็บได้เหมือนไม้ค้ำปีนเขา เพราะฉะนั้นอาจลำบากตอนปีนขึ้นผาหินเล็กน้อย ถ้าซื้อไม้เท้ามาแล้วก็เก็บไม้ค้ำปีนเขาเข้ากระเป๋าเป้เอาไว้ได้เลย
นอกจากนี้ภายใน GOGOEN RESTHOUSE นี้ยังมีไปรษณีย์ญี่ปุ่น「FUJISAN GOGOUME KANI POST OFFICE」สามารถส่งโปสการ์ดภาพ ไปยังครอบครัวหรือเพื่อนๆ ได้ และสามารถปั๊มแสตมป์เฉพาะของที่นี่ส่งไปได้ทั่วโลกเลยค่ะ
ซื้อโปสการ์ดภาพเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางจริงๆ แล้วค่ะ เดินเลยลานกว้าง「สถานีภูเขาฟูจิซุบารุที่ 5」ไปเพื่อเดินไปตามทางเดินขึ้นเขา ซึ่งบริเวณทางขึ้นเขาจะมีม้าอยู่หลายสิบตัวเลยค่ะ สามารถนั่งม้าวนรอบบริเวณลานกว้าง หรือสามารถนั่งไปไกลถึงสถานีภูเขาฟูจิที่ 7 ได้เลยด้วย
การนั่งม้าจะมีค่าเดินทางดังนี้ จากจุดสถานีที่ 5 ไปจนถึง「อิซึมิคาทากิ IZUMIKATAKI」เป็นระยะทาง 1 km ราคา 4,000 เยน ถึงสถานีที่ 6 ราคา 10,000 เยน และถึง “ผาชิชิอิวะ SHISHIIWA” ที่อยู่ระหว่างสถานีที่ 6 และสถานีที่ 7 ราคา 15,000 เยน ราคาทั้งหมดเป็นราคาขาเดียว หรือหากต้องการถ่ายรูปเฉพาะม้าก็มีค่าบริการ 500 เยนค่ะ หากเผลอถ่ายไปอาจจะโดนเรียกเงินค่าบริการได้ระวังด้วยนะคะ
และตึกที่อยู่ด้านซ้ายระวังทางขึ้นเขาก็คือ「จุดรับค่าบริการเพื่อพิทักษ์รักษาภูเขาฟูจิ」ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ที่ภูเขาฟูจิได้มีแคมเปญเก็บค่าบริการเข้าภูเขาฟูจิ「Fujisan Conservation Donation Campaign」(1,000 เยน) เพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เดือนกรกฏาคม ปี พ.ศ.2561 นี้จะเป็นการเรียกเก็บแบบไม่บังคับ ไม่ต้องชำระค่าบริการก็สามารถขึ้นภูเขาฟูจิได้ แต่การเรียกเก็บนี้จะเป็นการนำเงินไปสร้างห้องน้ำเพิ่ม การซ่อมบำรุง หรือสร้างศูนย์ดูแลให้ความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขอความร่วมมือเพื่อนๆ ที่ปีนขึ้นภูเขาฟูจินะคะ
และจะมีการแจกของที่ระลึกเป็นแผ่นไม้ที่ห้อยตราปั๊มเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ที่ให้ความร่วมมือด้วยค่ะ ซึ่งแผ่นไม้นี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปทุกๆ ปี สามารถสะสมแบบใหม่ๆ ได้ทุกๆ ปีเลยค่ะ
เอาละค่ะ ได้เวลาเริ่มเดินขึ้นภูเขาฟูจิแล้ว บรรยากาศรอบๆ เต็มไปด้วยต้นสนเขียวชอุ่ม และฝั่งซ้ายมือเป็นวิวรอบๆ เขา ส่วนด้านขวาก็สามารถมองขึ้นไปชมยอดเขาแบบใกล้ๆ ได้อีกด้วย
Day2-4 เส้นทางการปีนขึ้น “ภูเขาฟูจิ” จากสถานีภูเขาฟูจิที่ 5 ไปจนถึง สถานีภูเขาฟูจิที่ 7 พร้อมชมวิวที่สวยงาม
ตอนนี้เราก็เริ่มออกเดินทางจาก สถานีภูเขาฟูจิเส้นทางซูบารุที่ 5 กันแล้ว จากตรงนี้ไปจนถึง “อิซุมิ กาทากิ”「IZUMIGATAKI」จะเป็นทางเดินเรียบไม่ลาดชันเป็นระยะทางประมาณ 1.4 km นอกจากนักปีนเขาต่างๆ แล้วเราจะเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มครอบครัวอยู่บริเวณนี้
และด้านซ้ายมือจะเป็นวิวป่าและทะเลสาบยามานากะ และบ้านเมืองโดยรอบ ซึ่งเรียกวิวนี้ว่า「อาโอกิกาฮาระ AOKIGAHARA」เดินไปตามทางเดินสบายๆ ไปพร้อมกับชมวิวที่สวยงามก็รู้สึกเพลินมากๆ…….
เมื่อเดินจากจุดเริ่มต้นมาประมาณ 1.4 km แล้วเราก็จะมาถึงจุดที่เรียกว่า “อิซุมิ กาทากิ”「IZUMIGATAKI」 จากจุดนี้จะเป็นจุดที่แยกเป็น 2 เส้นทางระหว่าง「โยชิดะกุจิ สถานีที่ 5」และ「ยอดภูเขาไฟฟูจิ」ซึ่งป้ายอาจสังเกตุยากเล็กน้อย ทำให้บางคนเดินผิดทางกลับไปทาง「โยชิดะกุจิ สถานีที่ 5」เพราะฉะนั้นต้องสังเกตุให้ดีและเดินไปทาง「ยอดภูเขาไฟฟูจิ」นะคะ
และเส้นทางจาก “อิซุมิ กาทากิ” IZUMIGATAKI จะเป็นเส้นทางลาดชัน ทั้งสองฝั่งข้างทาง จะเป็นวิวต้นสน สวยงาม ไม่ว่าต้นไหนๆ ก็มีอายุกว่าหลายร้อยปี ทั้งความหนาของลำต้น และการแผ่รากไม้ ดูยิ่งใหญ่น่าตื่นตาจนลืมความเหนื่อยไปเลยค่ะ
และเมื่อเดินไปซักพักก็จะเป็นทางเดินแบบปูด้วยหิน และด้วยความที่หินนี้เป็นเส้นทางการปีนเขาของนักท่องเที่ยวและนักปีนเขาจำนวนมากทำให้หินมีความมนและลื่น เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะฉะนั้นหากเป็นวันที่ฝนตกหรือพื้นเปียกจากหมอก ก็ต้องระวังเป็นพิเศษเลยนะคะ
และเมื่อเดินเลยเส้นทางพื้นหินไปก็จะเจอกับอุโมงค์แปลกๆ อุโมงค์นี้มีไว้เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวและนักปีนเขาจากอุบัติเหตุหินถล่ม เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดที่ชันเป็นพิเศษทำให้มีหินกลิ้งลงมาจากภูเขาอยู่บ่อยๆ ซึ่งถึงแม้ว่าอุโมงค์จะมีเพียงที่นี่จุดเดียว แต่อุบัติเหตุหินถล่ม หรือหินกลิ้งจากภูเขาก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่จุดอื่นเช่นกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันการอุบัติเหตุเหล่านั้นสามารถป้องกันได้โดย…..
เมื่อเดินผ่านอุโมงค์ไปก็จะเดินทางมาถึงสถานีที่ 6 ใช้เวลาเดินมาจากจุดเริ่มต้นประมาณอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งที่สถานีภูเขาไฟที่ 6 จะเป็นจุดที่มี「ศูนย์ให้คำแนะนำการป้องกันภัยภูเขาฟูจิ」ที่มีการแจกแผนที่สำหรับผู้ปีนเขา หรือมีจุดยืมหมวกกันน็อค ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่สวมหมวกกันน็อคด้วยเหตุผลที่ว่า “หนัก” แต่ยังไงก็สามารถยืมหมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัยได้ที่นี่นะคะ ซึ่งการยืมหมวกกันน็อคสามารถยืมได้โดยวางเงินประกัน 2,000 เยนตอนยืม และจะได้เงินคืนทั้งหมดเมื่อนำหมวกกันน็อคมาคืน เพราะฉะนั้นถือว่าสามารถยืมได้ฟรีเลยค่ะ หมวกกันน็อคจะเบากว่าที่คิดไว้มากๆ
เมื่อยืมหมวกกันน็อคแล้ว แนะนำว่าให้ทำธุระเข้าห้องน้ำที่ข้างๆ ศูนย์ฯ ให้เรียบร้อย เพราะว่าจะไม่มีห้องน้ำระหว่างทางไปถึงสถานีที่ 7 เลยค่ะ
ทางจากสถานีที่ 6 เป็นต้นไปจะถูกแยกออกเป็น ทางขึ้น และทางลง ที่จุดแบ่งเลยห้องน้ำไปอีก ทางขึ้นคือทางด้านขวา จากตรงนี้ไปถึงยอดเขาจะเป็นระยะทางประมาณ 5.2 km ซึ่งระยะทางจากจุดเริ่มต้นภูเขาฟูจิเส้นทางซูบารุสถานีที่ 5 มาจนถึงที่นี่เป็นระยะทางกว่า 7 km แล้ว โห! มาได้เยอะแล้วเหมือนกันนะเนี่ย!? หลายคนอาจจะคิดแบบนี้ใช่ไหมคะ…….แต่เส้นทางต่อจากนี้จะเข้าสู่เส้นทางปีนเขาที่แท้จริงแล้วค่ะ
โดยปกติแล้วระยะทางจากจุดเริ่มต้น สถานีภูเขาฟูจิเส้นทางซูบารุที่ 5 ไปจนถึงยอดเขาจะใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง ไม่นับเวลาที่พัก หากเป็นมือใหม่ก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีกประมาณ 20%
สถานีที่ 5 -สถานีที่ 6:60 นาที
สถานีที่ 6-สถานีที่ 7:60 นาที
ทางเข้าสถานีที่ 7-สถานีที่ 8 :100 นาที
สถานีที่ 8-สถานีที่ 8 หลัก:80 นาที
สถานีที่ 8 หลัก-ยอดเขา :80 นาที
รวมแล้วเป็น 380 นาที (6 ชั่วโมง 20 นาที) เป็นเวลาที่ใช้โดยประมาณ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการปีนเขาก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการพักของแต่ละคน หรือ หากเป็นผู้ที่ชำนาญการปีนเขาและปีนมาหลายรอบแล้วก็อาจใช้เวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง หรือมือใหม่อาจจะใช้เวลามากถึง 10 ชั่วโมงค่ะ
ตั้งแต่สถานีที่ 6 เป็นต้นไปจะเป็นจุดที่ไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้เหมือนภูมิอากาศแบบทุนดราที่ ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย เป็นจุดที่มีต้นไม้เตี้ยๆ อยู่เล็กน้อย ขี้เถ้าภูเขาไฟ และหินก้อนที่เรียงไปตามทางที่คดเคี้ยว
และภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายจากจุดที่เดินจากสถานีที่ 6 มาเพียง 5 นาทีเท่านั้น จะเห็นได้ว่าทางชันมากจนสามารถมองตึกสถานีที่ 6 ได้จากมุมสูงเลยค่ะ
และเราจะมาแนะนำเคล็ดลับดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ในการปีนไปสู่ยอดเขาภูเขาฟูจิมาให้เพื่อนๆ ค่ะ
จากจุดสถานีที่ 6 นั้นคนส่วนใหญ่จะยังมีพลังเหลืออยู่ บางคนถึงกับวิ่งขึ้นกันเลยทีเดียว แต่แนะนำว่าอย่ารีบเดินตามความเร็วของคนอื่นค่ะ เพราะว่าจากจุดนี้จะเป็นจุดที่อยู่บนเขาสูงปริมาณออกซิเจนน้อย และลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามระดับความสูง ทำให้ร่างกายจะใช้พลังงานมากกว่าตอนอยู่บนพื้นดิน บางคนถึงกับเป็นโรคจากขึ้นที่สูง จึงอยากแนะนำให้ค่อยๆ เดินตามระดับความเร็วที่ตัวเองสามารถรับได้ ตามสภาพร่างกายของตนเอง เดินก้าวเล็กๆ ขึ้นบันไดไปทีละขั้น การค่อยๆ เดินขึ้นไปที่ก็จะส่งผลให้สามารถใช้ระยะเวลาในการเดินได้เร็วขึ้นไปด้วย ซึ่งระหว่างทางเดินจะมีหินอยู่มากมายสามารถนั่งพักตามหินระหว่างทางไปด้วยก็ได้ค่ะ
เดินไปตามทางคดเคี้ยวไปเรื่อยๆ เมื่อมองขึ้นไปบนเขาแล้วก็เห็นตึกสถานีที่ 7 อยู่ตรงหน้า แสดงว่าเราใกล้ถึงแล้วค่ะ จากเมื่อกี้ยังไม่มีเมฆเลยซักนิด แต่อยู่ดีๆ ฝนก็ตกเลยค่ะก็รีบเตรียมเสื้อกันฝนมาใส่ทันพอดี สถาพอากาศบนภูเขาจะแปรปรวนอย่างหนักเพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมเสื้อกันฝนมาเผื่อไว้ด้วยนะคะ
เดินขึ้นไปตามทางคดเคี้ยวไปก็จะมาถึงจุดหินผา「ชิชิอิวะ SHISHI IWA」 เมื่อผ่านบริเวณนี้ไปก็จะเป็นสถานีที่ 7 เลยค่ะ ซึ่ง “ชิชิอิวะ” จะเป็นจุดสุดท้ายของเส้นทางที่ลำบากที่สุดของสถานีที่ 6 ค่ะ นอกจากการเดินแล้ว เราสามารถนั่ง “ม้า” จากจุดเริ่มต้นที่สถานีที่ 5 มาจนถึง “ชิชิอิวะ” นี้ได้ด้วยค่ะ(ขาเดียว 15,000 เยน)จากตรงนี้ไปจนถึงสถานีที่ 8 จะเป็นเส้นทางไต่ขึ้นหินผา บริเวณหินผาแนะนำให้ค่อยๆ เดินก้าวเล็กๆ หาจุดยึดเท้าให้ดี ระวังทุกๆ ก้าวเดินเลยค่ะ ส่วนไม้ค้ำปีนเขาก็สามารถเก็บเข้ากระเป๋าไปได้เลยค่ะ เพราะหากพลาดทำไม้หล่นไปก็จะกลิ้งตกลงไปด้านล่าง อาจจะโดนคนอื่นได้ค่ะ
และเมื่อขึ้นผ่านผาหินชิชิอิวะ มาแล้วก็จะมาถึงที่พักชื่อว่า “ฮานาโกยะ”『HANAGOYA』เป็นจุดที่อยู่บนความสูง 2,700 m ซึ่งสถานีที่ 5 มีความสูง 2,305 m เพราะฉะนั้นถือว่าเราขึ้นมาแล้วประมาณ 400 m เลยค่ะ จากจุดเริ่มต้นที่สถานีที่ 5 มาจนถึงจุดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง พักซักหน่อยก็ดีค่ะ ซึ่งที่ “ฮานาโกยะ” จะเป็นที่พักที่สามารถค้างคืนได้ และมีร้านขายของที่มีทั้ง ราเม็ง หรืออุดง ราคา 700 เยน ส่วนซอฟต์ครีมแต่ละรสจะอยู่ที่ 400 เยน
เส้นทางระหว่างสถานีที่ 7 ไปจนถึงทางเข้าสถานีที่ 8 จะเป็นทางผาหินชัน เป็นการตะกร่ายขึ้นผาหินไปทีละเล็กน้อย “สถานีที่ 7” หนึ่งในเส้นทางภูเขาฟูจิที่ลำบากนี้จะมีที่พักอยู่ถึง 6 จุด แต่ละที่จะอยู่ห่างกันโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 -15 นาที เพราะฉะนั้นสามารถหยุดพักในแต่ละจุดไปได้เรื่อยๆ เลยค่ะ
และนี้ก็คือที่พัก “โทโมเอะคัง TOMOEKAN” เป็นที่พักจุดที่ 2 จากที่พักทั้งหมด 6 จุดของสถานีภูเขาฟูจิที่ 7 ซึ่ง 『โทโมเอะคัง TOMOEKAN』 จะมีอยู่ 2 ที่คือที่สถานีที่ 7 และสถานีที่ 8 หลักที่ความสูง 3,400 m โดย “โทโมเอะคัง TOMOEKAN” ที่สถานที่ 7 นี้ถือได้ว่าเป็นที่พักที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ภายในกระท่อมที่พักนี้จะมีทั้ง ห้องพักขนาดใหญ่ และมีห้องพักแยกเป็นห้องส่วนตัวเช่นกัน
เส้นทางถัดจาก “โทโมเอะคัง TOMOEKAN” เป็นเส้นทางผาหินต่อเนื่องไปอีกเช่นกัน 「ฮานาโกยะ」ที่อยู่บนความสูง 2,700 m ขึ้นมาถึงที่พักจุดที่ 3 ที่「KAMAISHIKAN」แล้วก็จะอยู่บนความสูง 2,800 m โดยที่ภายในที่พักของสถานที่ 7 ทุกที่จะมีบริการห้องน้ำครั้งละ 200 เยน และเครื่องดื่ม 400 เยน ให้บริการทุกจุด เมื่อเทียบแล้วราคาสินค้าแต่ละอย่างบนเขานี้จะแพงกว่าสินค้าบนดินมากๆ แต่ในพื้นที่ๆ มีการต่อน้ำมาเฉพาะที่พักเท่านั้น ทำให้น้ำเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เลยค่ะ ไม่ต้องอั้นห้องน้ำเอาไว้เพราะต้องเสียค่าบริการนะคะ แนะนำว่าให้เข้าไปเลยดีกว่าจะได้เดินได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกังวลอะไรเลยค่ะถึงแม้ว่า “คามาอิชิคัง” KAMAISHIKAN จะเป็นที่พักที่อยู่ถัดมาใกล้กันเลย แต่ระยะทางไป “ฟูจิอิจิคัง”「FUJI ICHIKAN」จะอยู่ห่างออกไปพอสมควรค่ะ ซึ่งหากไปถึง “ฟูจิอิจิคัง” แล้วก็ถือว่าใกล้สิ้นสุดเส้นทางของ สถานีที่ 7 แล้วค่ะ และระดับความสูงก็ใกล้จะถึง 3,000 m แล้วด้วย
จะมีโทริอิสีแดงเป็นสัญลักษณ์เรียกว่า “โทริอิโซ”「TORIISO」เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็ถือว่าขึ้นมาถึง 3,000 m แล้วค่ะ ซึ่งผาหินก่อนถึงโทริอิ จะเป็นจุดที่ชันและลำบากที่สุดในเส้นทางสถานีที่ 7 เลยก็ว่าได้ แต่เมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้วก็ใกล้สิ้นสุดเส้นทางสถานีที่ 7 แล้วค่ะ
เมื่อเลย “โทริอิโซ”「TORIISO」มาเล็กน้อยก็จะเป็นจุดที่พักที่ใหญ่ที่สุดของเส้นทางปีนภูเขาฟูจิ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน กับ “โทโยคัง”『TOYOKAN』ที่มีทั้ง Wifi ฟรี ห้องพักแบบแคปซูลที่ถือว่าเป็นที่พักแปลกใหม่บนภูเขาฟูจิ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตและมีความเป็นส่วนตัวอีกด้วยค่ะ
หากพูดถึงการปีนขึ้นภูเขาฟูจิแล้วก็คงจะนึกถึงการขึ้นไปสู่ยอดเขา แต่ที่ “โทโยคัง” ในช่วงสถานีที่ 7 ก็สามารถชมวิวที่สวยงามได้ไม่แพ้กันค่ะ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยอย่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ครอบครัวพร้อมเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ก็นิยมให้สถานีที่ 7 นี้เป็นเป้าหมายในการปีนขึ้นภูเขาฟูจินั่นเองค่ะ จากจุดนี้จนถึงสถานีที่ 8 และสถานีที่ 8 หลัก จะเป็นช่วงที่โหดที่สุดของภูเขาฟูจิ ซึ่งเมื่อผ่านช่วงระยะนี้ไปได้แล้วก็ถือว่ายอดเขาฟูจิ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วค่ะ
Day2-5 เดินทางจากสถานีภูเขาฟูจิที่ 7 ไปจนถึงสถานีภูเขาฟูจิที่ 8 และเข้าพักที่ “โทโมเอะคัง สถานีหลักที่ 8”「Original 8th Stn. Tomoekan」
เดินมาอยู่ที่จุดสิ้นสุดสถานีที่ 7 ที่ 「โทโยคัง」บนความสูง 3,000 m ซึ่งช่วงระหว่างเส้นทางสถานีที่ 7 นั้นเดินไปเพียงแป๊บเดียวก็จะถึงที่พักต่อไป แต่ช่วงตั้งแต่ที่พัก “โทโยคัง” ไปจนถึงที่พักแรกของสถานีที่ 8 “ไทชิคัง”「TAISHIKAN」จะเป็นเส้นทางทรหดเป็นผาลาดชัน ดูจากภาพได้เลยค่ะว่าถ้าพลาดลื่นตกลงไปด้านล่างคงเจ็บหนักน่าดูเลย เพราะฉะนั้นสำหรับมือใหม่ให้ค่อยๆ เดินไปทีละก้าวเล็กๆ ก็สามารถขึ้นไปถึงยอดได้สบายเลยค่ะ ค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ เมื่อหันหลังไปก็จะพบกับวิวทะเลเมฆสวยงามอยู่ด้านหลัง
เดินจาก「โทโยคัง」มาประมาณ 40 นาทีโดยไม่นับเวลาหยุดพัก ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึง “ไทชิคัง”「TAISHIKAN」ที่อยู่บริเวณทางเข้าสถานีที่ 8 กันแล้วค่ะ เมื่อเดินผ่าน “ไทชิคัง” มาเล็กน้อยก็จะเป็นทางบันไดหิน จากตรงนี้ไปจนถึงบริเวณใกล้ๆ สถานีที่ 9 จะไม่มีทางปีนหินแล้วค่ะ เมื่อทุกคนผ่านจุดเส้นทางที่ลำบากมาได้แล้วหน้าตาก็สดใสขึ้นมาทันที “ไทชิคัง”『TAISHIKAN』ที่จุดเริ่มต้นสถานีที่ 8 นี้อยู่บนความสูง 3,100 m
เราขึ้นจากสถานีที่ 5 บนความสูง 2,305 m มา 800 m ซึ่งความสูงทั้งหมดของภูเขาฟูจิจะอยู่ที่ 3,776 m เพราะฉะนั้นอีก 676 m เท่านั้นเราก็จะถึงยอดเขาแล้วค่ะ และก็เริ่มได้เวลาของความทรหดในช่วงครึ่งหลังแล้ว เราเดินทางมาจนถึงจุดนี้ใช้เวลาไปประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ 13:30 น. ตอนนี้ก็ได้เวลาที่พระอาทิตย์จะเริ่มตกดินแล้ว น่าเสียดายที่เส้นทางปีนขึ้นเขาจะอยู่ทางทิศตะวันออก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถดูพระอาทิตย์ตกดินได้ แต่ก็ยังสามารถชมแสงยามเย็นที่กระทบกับเมฆสีขาวได้น่าจะสวยงามไม่แพ้กันเลย
จากสถานีที่ 8 นี้ของที่จำหน่ายอยู่จะแพงกว่าตอนอยู่สถานีที่ 7 ขึ้นไปอีก ซึ่งตอนที่เราอยู่ที่สถานีที่ 7 ราคาน้ำเปล่าจะอยู่ที่ 400 เยน แต่ที่นี่ราคาเครื่องดื่มจะอยู่ที่ 500 เยน ราเม็งจาก 800 เยน ก็แพงขึ้นเป็น 1,000 เยน นอกจากนี้ ในช่วงสถานีที่ 7 หากซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มก็สามารถนั่งพักนั่งทานภายในที่พักได้ แต่ที่พักภายในสถานีที่ 8 ส่วนใหญ่จะให้เข้าพักผ่อนทานอาหารได้เฉพาะลูกค้าที่เข้าพักเท่านั้น (อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หรือพื้นที่ว่าง) ซึ่งคนจะเยอะมาก ดังนั้นหากไม่จองล่วงหน้าก็ไม่สามารถเข้าพักได้เลยค่ะ เพราะฉะนั้นหากใครจะขึ้นไปสูงขึ้นอีกจากสถานีที่ 8 ก็อยากแนะนำว่าต้องวางแผนให้ดีก่อนนะคะ ซึ่งในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม ที่พัก “ไทชิคัง”「TAISHIKAN」นี้จะมี「จุดดูแลให้ความช่วยเหลือสถานีที่ 8」ที่เป็นจุดพักสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบายระหว่างการปีนเขา หากใครที่รู้สึกไม่ค่อยสบายแนะนำมุมไปที่「TAISHIKAN」ดีกว่าค่ะ
เส้นทางจากสถานีที่ 8 ไปจนถึงสถานีที่ 9 จะเป็นทางหินชัน สลับกับบันไดหิน
และอยากให้ลองดูภาพบนซ้ายมือ จะมีป้ายที่อยู่ในวงกลมสีเหลืองเขียนว่า「เส้นทางรถปราบดิน ห้ามเข้า(ブル道立入禁止)」อยู่ ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเฉพาะของ “รถปราบดิน” เท่านั้น ถึงจะเดินไปตามเส้นทางนี้ก็ไม่สามารถเดินไปถึงยอดเขาได้ และหากเข้าไปแล้วก็จะหลงทางได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรเข้าไปนะคะ
เดินขึ้นมาจาก “ไทชิคัง”「TAISHIKAN」อีกประมาณ 50 m ก็จะมาถึงที่พัก “โฮไรคัง”『HORAIKAN』
เราเริ่มออกเดินทางจากจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 13:30 น. เป็นเวลา 5 ชั่วโมง หากเดินเลย “โฮไรคัง” ไปพระอาทิตย์คงจะเริ่มตกดินแล้วค่ะ
เมื่อถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน แสงก็จะเริ่มหายลับเข้าไปในเมฆ บรรยากาศรอบๆ ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นบรรยากาศตอนกลางคืน
ซึ่งบนภูเขาแห่งนี้จะไม่มีไฟนำทางใดๆ ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วรอบๆ ก็จะมืดสนิทแบบนี้เลยค่ะ ดังนั้นนักเดินทางก็จะใช้ไฟฉายติดศรีษะเป็นเครื่องนำทางเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ยอดเขา ถึงแม้ว่าไฟฉายติดศรีษะจะส่องได้เฉพาะบริเวณเท้าเพื่อส่องเส้นทางเดิน แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้นักเดินทางสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย ไฟฉายติดศรีษะเป็นหนึ่งในไอเท็มที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาดในการปีนเขา เนื่องจากการเดินแบบไม่มีไฟฉายติดศรีษะในความมืดเป็นอะไรที่อันตรายมากๆ เลยค่ะ
หากเกิดเหตุสุดวิสัยเช่น ไฟฉายติดศรีษะเสีย หรือถ่ายหมด ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากนักปีนเขาคนอื่น ให้พาไปยังที่พักใกล้เคียง เพื่อซื้ออันใหม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าร้านทั่วไป แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องซื้อค่ะ
“ฮากุอุน”『HAKUUN』ที่พักสถานีที่ 8 บนความสูง 3,200 m
เมื่อมาถึงบริเวณนี้แล้วออกซิเจนก็จะลดลงเหลือเพียง 60% เท่านั้น บนความสูง 3,200 m นี้จะเป็นจุดที่มีผู้ที่มีอาการโรคจากขึ้นที่สูงเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีอาการคือ ปวดศรีษะ หายใจลำบาก หน้ามืด หรืออาเจียน หากท่านใดเกิดอาการเหล่านี้ควรจะหยุดพักให้อาการหายสนิทก่อน เมื่อร่างกายกลับสู่ปกติแล้วจึงเดินทางต่อ
ซึ่งที่พัก “ฮากุอุน” นี้มีที่พักราคาไม่แพง เข้าพักในวันธรรมดาหรือวันอาทิยต์ ราคาเฉพาะที่พักค้างคืนจะอยู่ที่ 5,800 เยนเท่านั้น
มาดูเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ กัน “ภูเขาฟูจิ” เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น อยู่ที่ความสูง 3,776 m อันดับที่สองคือ「ภูเขาคิตะ」ที่ความสูง 3,193 m และอันดับที่สามคือ「ภูเขาโฮคาตะดาเกะ」ที่ความสูง 3,190 m ซึ่งความสูงตั้งแต่ที่พัก “ฮากุอุน”「HAKUUN」บนควาสูง 3,200 m เป็นต้นไปจะเป็นความสูงที่สามารถสัมผัสได้เฉพาะที่ภูเขาฟูจิเท่านั้น
เมื่อเดินจาก “ฮากุอุน” มาอีก 50 m ที่ความสูง 3,250 m ก็จะมาถึงจุดสิ้นสุดสถานีที่ 8 ที่ “กันโซะมูโระ”『GANSOMURO』
จากตรงนี้ไปจนถึงสถานีหลักที่ 8 จะไม่มีห้องน้ำ เพราะฉะนั้น หากเข้าห้องน้ำ เพิ่มเครื่องกันหนาว และดื่มน้ำแล้วก็ออกเดินทางต่อเพื่อไปที่ “โทโมเอะคัง”「TOMOEKAN」ที่สถานีหลักที่ 8 ที่เราจะพักกันในคืนนี้เลย โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที
เมื่อออกจาก “กันโซะมูโระ” มาแล้วก็จะเป็นทางลาดชันเรียกว่า “มินาสึกิฮัตโจ”「MUNATSUKI HATCHOU (胸突八丁)」ไปจนถึงสถานีหลักที่ 8 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีทั้ง ความเหนื่อยล้าที่สะสมมา ออกซิเจนที่ลดลง และลมที่แรงขึ้น ทำให้เป็นช่วงที่ใช้พลังงานเยอะพอสมควร แต่ถ้าเราสามารถก้าวผ่านช่วง “มินาสึกิฮัตโจ” นี้ไปได้ก็จะไปถึงสถานีหลักที่ 8 ที่มีทั้งที่พัก「EDOYA」「FUJISAN HOTEL」และ「Original 8th Stn. Tomoekan」เลยบนความสูง 3,400m เป็นจุดที่เหมาะกับการชมพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุดที่ สถานีหลักที่ 8
เราเริ่มออกเดินทางมาตั้งแต่ บ่ายโมงครึ่ง ผ่านไปแล้วประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง และแล้วก็เดินทางมาถึง “โทโมเอะคัง สถานีหลักที่ 8”『Original 8th Stn. Tomoekan』เป็นที่เรียบร้อย หากเป็นนักปีนเขามืออาชีพก็จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง แต่เราค่อยๆ เดินตามกำลังที่มีเพราะฉะนั้นจึงค่อยๆ เดินขึ้นมาแบบไม่หนักมากเลยค่ะ ซึ่งที่พัก “โทโมเอะคัง สถานีหลักที่ 8” นี้เป็นกระท่อมบนเขาที่สร้างขึ้นเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา เดิมทีถูกเรียกว่าเป็นสถานที่เคารพพระพุทธรูปเนียวไร SHAKANYORAI(釈迦如来) เพื่อสวดอธิษฐานให้ผู้ปีนเขาสามารถปีนขึ้นมาได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง
เมื่อเข้ามาภายในที่พักแล้วก็จะมีจุดชำระเงินอยู่ตรงหน้า ส่วนด้านขวามือเป็นลานกว้าง ที่สามารถทานอาหาร หรือเตรียมตัวจัดของสำหรับการเดินทางได้สบาย อาจจะเป็นที่พักที่ไม่สามารถเทียบกับโรงแรมหรือเรียวคังออนเซ็นได้ แต่ที่นี่เป็นที่พักที่อยู่บนความสูง 3,400 m สถานีภูเขาฟูจิหลักที่ 8 เป็นจุดที่ถือว่าเป็นที่พักพิงทั้งกายและใจสำหรับนักเดินทางปีนเขาที่ดีได้เลยค่ะ
และเมื่อขึ้นบันไดที่อยู่ด้านซ้ายมือลานกว้างก็จะเป็นส่วนที่นอนใต้หลังคา ตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นที่นอนแบบเตียงสองชั้นรึเปล่า แต่ที่นี่เป็นที่พักแบบนอนเรียงกัน 4 ถึง 5 คนในพื้นที่ประมาณกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ถ้าเป็นที่พักบนดินในเมืองก็คงไม่สามารถนอนแบบนี้ได้ แต่ขึ้นมาบนเขาสูงขนาดนี้ บวกกับความเหนื่อยจากการปีนเขา แค่มีที่ให้นอนก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจมากๆ แล้วค่ะ
ซึ่งที่ลานกว้างนี้สามารถสั่งอาหารร้อนๆ มาทานได้ด้วยค่ะ ถึงจะอยู่บนเขาสูงขนาดนี้แต่เมนูก็มีให้เลือกหลากหลายเลยค่ะ ทั้งแกงกะหรี่カレーライス(1,200 เยน)ข้าวหน้าเนื้อ牛丼(1,200 เยน)หรือ อุดงเนื้อ肉うどん(950 เยน)นอกจากอาหารจานหลักแล้วก็มีซุปร้อนๆ อย่าง ซุปหมูทงจิรุ豚汁(500 เยน) หรือ ซุปมิโซะ味噌汁(400 เยน)อีกด้วย
ได้จองแบบที่พักพร้อมอาหารเย็น และอาหารเช้า ดังนั้นข้าวเย็นวันนี้ก็คือ แกงกะหรี่แฮมเบิร์กค่ะ ถึงจะอยู่บนความสูง 3,400m แบบนี้แต่รสชาติแกงกะหรี่เนื้อกับแฮมเบิร์กก็อร่อยไม่แพ้รสชาติที่ทานที่ร้านอาหารในเมืองเลยค่ะ
ซึ่งจุดขายของโทโมเอะคังก็คือ “บริการปลั๊กไฟ” ซึ่งบนภูเขาฟูจิบนความสูงที่ไม่มีการเดินไฟนั้น จะต้องปั่นไฟด้วยตัวเอง บริเวณสถานีที่ 8 เป็นต้นไปส่วนใหญ่จะไม่มีบริการปลั๊กไฟสำหรับผู้เข้าพัก เพราะฉะนั้นถือว่าเป็บริการพิเศษที่หากยากบนเขาแบบนี้เลยค่ะ ได้ชาร์ตมือถือเอาไว้ลงโซเชียล ทั้งรูปวิวจากบนเขาต่างๆ ไปด้วยเลย บริเวณที่นอนใต้หลังคา จะมีหน้าต่างเล็กๆ ที่ถูกเปิดเอาไว้เล็กน้อย อาจจะรู้สึกหนาวบ้าง แต่มีเอาไว้ป้องกันโรคจากขึ้นที่สูงค่ะ เพื่อให้ได้รับออกซิเจนให้ได้มากที่สุด ในที่ที่ออกซิเจนมีน้อยลงกว่าปกตินั่นเอง อย่าเผลอปิดหน้าต่างนี้นะคะ สำคัญมากๆ ตอนนี้ก็ 22:00 น. แล้ว เวลานี้เมื่อวานเรายังนั่งทานไก่ย่างอยู่เลยค่ะ ไม่น่าเชื่อเลย ส่วนที่นี้บรรยากาศสงบมากๆ พรุ่งนี้เราจะไปชมพระอาทิตย์ขึ้นกันเพราะฉะนั้นเราจะตื่นตอนตี 1 เพื่อออกเดินทาง
ขอพักความสนุกของการ ปีนภูเขาไฟฟูจิ ในตอนที่ 1 ไว้เพียงเท่านี้ แล้วมาติดตามกันต่อใน ตอนที่ 2 นะคะ
ขอบคุณ Guest สุดพิเศษ สมาชิกหมายเลข 4114214 สังกัด Pantip จากกระทู้ [CR] 3D2N คู่มือพิชิตยอดฟูจิ Fujisan คาวากุจิโกะ Kawaguchiko โตเกียว Tokyo คนเดียวก็เที่ยวได้ ที่มามอบประสบการณ์ เที่ยวญี่ปุ่น ในเส้นทางสุดท้าทายด้วยการ ปีนภูเขาไฟฟูจิ แบบละเอียดยิบ ได้ข้อมูลจัดเต็ม ได้รับเสียงปรบมือจากเราไปเลย!!
ระดับความน่าไป : ✩✩✩✩✩