Mushroom Travel LINE
เราช่วยคุณได้
@mushroomtour
จันทร์ - เสาร์
9:00-22:00
อาทิตย์
9:00-18:00
Call Mushroom Travel
Call Center
02 105 6234
จอง 6 คนขึ้นไป
จอง 6 คนขึ้นไป
02 105 6244
Loading...

“อะกะเบะโกะ” สัญลักษณ์ ฟุกุชิมะ

โพสเมื่อ

” ฟุกุชิมะ “มี “อะกะเบโกะ”  

ญี่ปุ่น ประเทศแห่งการสร้างสรรค์ ประเทศแห่งการครีเอทของมุ้งมิ้ง ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าใครก็หลงรักญี่ปุ่น เพราะเหตุผลนี้ (โดยเฉพาะโอตากุ :P) นอกจากจะเป็นของที่ครีเอทขึ้นเพื่อใช้ประดับ ของที่ครีเอทขึ้นเพื่อการสะสมแล้ว ยังมีของมุ้งมิ้งอีกประเภทหนึ่งที่เค้าผลิตเพื่อเป็นเครื่องรางปกป้องคุ้มครอง หรือว่านำโชคด้วยล่ะค่ะ
เวลาไปศาลเจ้า, วัด หรือว่าศาสนสถานในประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีเหลือเกินก็คงจะเป็น “เอมะ” หรือว่า แผ่นไม้เล็กๆที่เอาไว้เขียนขอพรและห้อยทิ้งไว้ที่ศาลเจ้านั้นๆ ใช่หรือเปล่าคะ แต่นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เห็นบ่อยๆอีกอย่างก็คงจะเป็นเครื่องราง ที่ผู้คนจะซื้อจากศาลเจ้ากลับไปเพื่อติดตัว เพื่อสร้างความมั่นใจ หรือเรียกความมั่นใจจากสิ่งที่พวกเค้าศรัทธาอยู่นั่นเอง
สำหรับ “อะกะเบะโกะ” ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนั้น เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนสำหรับของฝาก และเครื่องรางที่ขึ้นชื่อของจังหวัดฟุกุชิมะเลยทีเดียว 赤べこ(Akabeko) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง วัวสีแดง โดย 赤(Aka-อะกะ) หมายถึง สีแดง และ べこ(Beko-เบะโกะ) เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวภูมิภาคโทโฮกุ มีความหมายว่า วัว ดังนั้น อะกะเบะโกะจึงหมายความถึง วัวที่เป็นสีแดงนั่นเอง

อะกะเบโกะ เป็น เปเปอร์มาเชร์ ซึ่งมีไม้ประกอบเป็นแกนกลางอยู่ด้านใน โดยมีรูปร่างเป็นวัวสีแดง และเมื่อคุณยกตัวของมันขึ้นมา ก็จะพบกับหัวที่ดุ๊กดิ๊ก เป็นลูกเล่นที่น่ารัก ชวนให้ซื้อเก็บมากเลยทีเดียว อะกะเบโกะ หาซื้อได้ทั่วไปในจังหวัดฟุกุชิมะ โดยเฉพาะเมือง “ไอซุ-วะกะมัทสึ” ซึ่งถึงเป็นเมืองต้นกำเนิดที่ประดิษฐ์อะกะเบโกะขึ้นมา ทีนี้การกำเนิดของ “อะกะเบโกะ” มันก็มีที่มาอยู่เหมือนกันนะคะ ถ้าใครพร้อมที่จะย้อนอดีตกลับไปกับเราแล้ว ตามเราไปฟังพร้อมๆกันเลยดีกว่าค่ะ

ฟุกุชิมะ 2 ฟุกุชิมะ 3

เมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ในเมือง “ยะไนซุ” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก ไอซุ-วะกะมัทสึ ในปัจจุบัน มีการก่อสร้างวัดที่มีชื่อว่า เอ็นโซจิ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากๆในเมืองยะไนซุ และในระหว่างการขนไม้เพื่อทำการก่อสร้างจนกระทั่งสร้างวัดเสร็จนั้น ชาวบ้านใช้วัวจำนวนหนึ่งมาช่วยในการขนไม้ แต่ทว่าเมื่อภารกิจขนไม้เสร็จสิ้นแล้วนั้น วัวก็ยังไม่ยอมจากวัดไปไหน ชาวบ้านจึงอนุญาติที่จะให้วัวอาศัยอยู่ในวัดได้ วัวจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีของเทพเจ้า ซึ่งชาวบ้านขนานนามว่า “อะกะเบโกะ” ซึ่งหมายถึงวัวสีแดง ตามที่ได้เกริ่นไปแล้วข้างต้นนั่นเอง

ผ่านไปนานหลายปี ในปลายศตวรรษที่ 16 ปราสาทของไอซุ-วะกะมัทสึ ได้กลายมาเป็นที่พำนักหลักของไดเมียวกาโมะ อุจิซาโตะ เมื่อท่านไดเมียวได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัวแดง จึงมีไอเดียในนำอะกะเบโกะมาทำของที่ระลึกและเป็นที่นิยมสืบมา แต่เรื่องราวมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครๆอยากให้เป็น โรคฝีดาษได้แผ่กระจายเข้ามาในเมืองทำให้ผู้คนล้มป่วย แต่น่าแปลกที่เด็กๆที่มีของเล่นวัวแดง (อะกะเบโกะ) อยู่กับตัวนั้นไม่ได้ติดโรคร้ายนี้เลยแม้แต่น้อย ชาวบ้านจึงเห็นตรงกันว่า อะกะเบโกะไม่ใช่เพียงแค่ของเล่นธรรมดาที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองแต่เพียงเท่านั้น แต่นี่คือเครื่องรางที่ช่วยเรื่องสุขภาพด้วย

โอ้ว…เป็นยังไงกันบ้างคะกับตำนานที่เราเอามาแชร์ให้อ่านกันในคราวนี้ ส่วนตัวแล้ว เราคิดว่า ความศรัทธา เป็นพลังงานที่เรามองไม่เห็น แต่กลับก่อให้เกิดพลังบวกที่น่ามหัศจรรย์มากเลยนะคะ เรื่องแบบนี้ไม่เชื่อ ก็ไม่ควรลบหลู่ อ้อ…แต่เดี๋ยวก่อน มีคนบอกว่าความเชื่อมักจะมาคู่กับความหลงงมงาย เราเองคิดว่าก็มีส่วนจริงอยู่ เพราะความเชื่อ นำมาซึ่งความศรัทธา แต่หากศรัทธาแบบไม่มีความรู้เข้ามาประกอบ ก็จะนำมาสู่วังวนของความงมงายได้ค่ะ ดังนั้น ศรัทธาอะไรก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องอยู่บนหลักของความรู้เท่าทัน คือเดินทางสายกลาง 55+ เข้าโหมดค่อนข้างจริงจังละ เปลี่ยนโหมดดีกว่าค่า..

สรุปก็คือ อะกะเบโกะ หรือวัวแดง ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่พรีเซ้นต์ความเป็นจังหวัดฟุกุชิมะที่ไม่เลวเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นของฝาก เป็นของเล่นน่ารักได้แล้ว ยังเป็นเสมือนเครื่องรางไว้คอยคุ้มครองในด้านสุขภาพอีกด้วย สำหรับคนที่กำลังหาโปรแกรมเที่ยวญี่ปุ่น หาที่เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองในภูมิภาคโทโฮกุ เราว่าฟุกุชิมะก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ แล้วอย่าลืมว่า ไปถึงฟุกุชิมะแล้ว ก็ลองมองหา และซื้อ “อะกะเบโกะ” กลับมาเป็นของฝากกันด้วยนะคะ ❤

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์จาก

www.fukutabi.net/fuku/yanaitu/enzouji
www.kankou.town.yanaizu.fukushima.jp
www.tif.ne.jp

—————
Mushroom Travel มีโปรแกรม ทัวร์ญี่ปุ่น ให้เลือกมากที่สุด
โทร. 02-105-6234 (30 คู่สาย)
[email protected]
Line id: @mushroomtravel