คนไทยต้องรู้! หิ้วของกลับประเทศ ยังไงไม่ให้โดนภาษี แชร์ไว้ไม่เสียหาย
การช้อปปิ้งที่ต่างประเทศกับการเสียภาษีเมื่อกลับไทยเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากเจอ หากการช้อปปิ้ง หิ้วของกลับประเทศ ไทยบ้านเกิดเมืองนอนแต่ละที ต้องคอยลุ้นตัวเกร็งว่ากรมศุลกากรจะเก็บภาษีจากเรามั้ย? แล้วทำอย่างไรถึงจะ หิ้วของไม่โดนภาษี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปค่ะ ถ้าคุณอ่านเรื่องน่ารู้… การหิ้วสินค้าผ่านศุลกากร ขาออก – ขาเข้า ที่ มัชรูมทราเวล นำมาฝากในแบบฉบับเข้าใจง่าย ไปทำความเข้าใจเพื่อความถูกต้องกันเลยค่ะ!
เตรียมเที่ยวเมืองนอก ผ่านขาออกต้องทำยังไง?
หลังจากปล่อยให้ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู ตอนนี้กรมศุลกากรได้ประกาศยกเลิกการสำแดงของใช้ส่วนตัวขาออกให้บุคคลทั่วไปแล้ว ก็ทำให้สบายใจกันไปส่วนหนึ่ง แต่สำหรับขาช้อปอย่างเราจะไปเที่ยวต่างประเทศทั้งที ก็อยากจะซื้อของใช้ของฝากกันเต็มที่ ซึ่งการจะหิ้วสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้าเมืองไทยแบบไม่ให้โดนภาษี ก็ยังคงมีกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ชัดเจนอยู่ ไปศึกษาได้จากการหิ้วสินค้ากลับประเทศ ขาเข้า กันเลยค่ะ
เที่ยวเมืองนอกครบจบแล้ว หิ้วของกลับประเทศ ขาเข้าต้องทำยังไง?
แน่นอนค่ะไปเที่ยวเมืองนอกทั้งทีก็ต้องไปช้อปปิ๊งสิจ๊ะ ถึงจะถูกต้อง!! ไม่ว่าจะเป็นของฝาก ของที่ระลึก ของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และอีกมากมาย แต่ก่อนที่เราจะหิ้วสินค้ามาครอบครองที่บ้านเกิดเมืองนอนของเราได้อย่างสุขใจนั้น ต้องผ่านด่านพิธีการศุลกากรก่อนค่ะ ดังนั้น เรามาเคลียร์ทุกเรื่องน่ารู้กับการ หิ้วของกลับประเทศ หรือ หิ้วของไม่โดนภาษี กันเถอะ กรมศุลกากรกำหนดกฎเกณฑ์หิ้วสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้ามาเมืองไทยเอาไว้ว่า
- สินค้าที่ว่าจะต้องมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ต่อคน ถึงจะได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์/เหล้าไม่เกิน 1 ลิตร
- บุหรี่ ยาเส้น ซิการ์ ไม่เกิน 200 มวน หรือ 1 ห่อ น้ำหนักรวมไม่เกิน 250 กรัม
- หากซื้อสินค้ารวมกันมากกว่า 30,000 – 40,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีกับศุลกากร
เห็นว่า ยอดจับกุมผู้กระทำความผิดฐานนำเข้าสินค้ามูลค่ามากกว่า 20,000 บาท มีอย่างน้อย 1 รายต่อวัน ส่วนใหญ่จะกลุ่มของใช้ นาฬิกา และกระเป๋าแบรนด์เนมหรูราคาแพงเป็นหลัก
ขั้นตอนหิ้วของกลับประเทศไม่โดนภาษีต้องทำไง?
กลับมาที่ขาเข้าประเทศ การเดินทางกลับบ้านเราไทยแลนด์ดินแดนบ้านเกิด แน่นอนว่าการ หิ้วของกลับประเทศ จำนวนมากเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะต้องสำแดงต่อศุลกากร เมื่อลงเครื่องเสร็จ เดินมายื่นพาสปอร์ต ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และรับกระเป๋าเสร็จเรียบร้อย จะเข้าสู่ด่านศุลกากร จะเห็นว่ามี 2 ช่อง คือ
ช่องเขียว: “ไม่มีของสำแดง” สำหรับผู้ที่มั่นใจว่า ตนเอง ไม่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากรติดตัวเข้ามา สามารถเดินเข้าช่องนี้ได้เลย
ช่องแดง: “มีของต้องสำแดง” สำหรับผู้ที่นำของต้องชำระอากร, ของต้องห้าม และของต้องกำกัด เข้ามา หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่
หากต้องการเดินผ่านเจ้าหน้าที่แบบชิลล์ๆ แนะนำว่าอย่าใส่สิ่งของในกระเป๋าถือมากเกินความจำเป็น ใครที่ไม่มีสิ่งของต้องสำแดงเกินกำหนดกฎหมายก็สบายๆ ค่ะ เดินตัวปลิวนำลิ่วกลับไปนอนตีพุงที่บ้าน แต่ต้องแน่ใจก่อนนะว่าสิ่งของที่ หิ้วของกลับประเทศ ไม่มีของต้องสำแดงจริงๆ
หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ หากตรวจพบว่าคุณ หิ้วของกลับประเทศ จำนวนมาก แต่เลือกเดินผ่านช่องเขียวแบบเนียนไว้ก่อน ตีหน้ามึนๆ ไม่รู้ไม่ชี้ ขอไม่เสียภาษี รับรองว่า ถูกปรับอ่วมน่วมไปทั้งตัวไม่รู้ด้วยนะ ดังนั้น เราจำต้องรู้รอบตัวไว้ก่อนว่า สิ่งของต้องสำแดงมีอะไรบ้าง มาติดตามกันเลย
กฎเกณฑ์การสำแดงของมีค่าในช่องโดยสารขาเข้าประเทศ
การสำแดงของมีค่าที่ต้องผ่านทางช่องสีแดงมีรายละเอียด ดังนี้
- พกของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณเกินกว่าที่ใช้คนเดียว หรือมีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท ไม่นับรวมมูลค่าสิ่งของติดตัวที่นำไปด้วย หากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทาง ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ดูเป็นอันครบจบพิธี กรณีสิ่งของที่ผู้โดยสารนำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ผู้โดยสารต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ ส่วนบริการภาษีอากรเพิ่มเติม
- สิ่งของที่นำมาเพื่อขาย พรีออเดอร์ หรือมีลักษณะทางการค้า
- ของต้องห้ามและผิดกฎหมาย เช่น สารเสพติด (มีไว้เสพ หรือมีไว้ขายก็โดนทั้งนั้น) วัตถุหรือสื่อลามก ของลอกเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม และสัตว์ป่าสงวน ฯลฯ
- ของต้องกำกับ เช่น พระพุทธรูป, อาวุธปืน, พืช, สัตว์มี, อาหาร, ยา, เครื่องสำอาง, ชิ้นส่วนยานพาหนะ, บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ถ้าคุณมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมา จะถูกจับกุมและยึดสินค้าเนื่องจากมีความผิดฐานพยายามลักลอบหนีศุลกากร หรือหลบเลี่ยงภาษีอย่างแน่นอน
- การสำแดงเงินตราขาเข้า: ผู้โดยสารสามารถนำเข้าเงินไทย (บาท) ได้โดยไม่จำกัดมูลค่า กรณีนำเข้าเงินสกุลต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์มีมูลค่ารวมแล้วเกินกว่า 20,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร หากไม่สำแดง หรือสำแดงรายการไม่ถูกต้อง มีความผิดทางอาญา
การคิดภาษีสินค้านำเข้าที่ราคารวมกันเกิน 20,000 บาท
สำหรับเรทภาษีสินค้านำเข้าที่มีราคารวมกันเกิน 20,000 บาท เจ้าหน้าที่จะทำการประเมินราคาจากราคากลางของสินค้า กับราคาอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งออกเป็น
- (ราคากระเป๋า x 20%) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
- (ราคารองเท้า x 30%) + รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
- (ราคานาฬิกา x 5%) + รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
- โทรศัพท์, กล้องถ่ายรูป, แก็ดเจ็ต และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ยกเว้นราคาอากร แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ยกตัวอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น:
นายเห็ดซื้อกระเป๋าชาแนล (CHANEL) ให้แฟนราคา 60,000 บาท การจ่ายภาษีอากรต่อศุลกากรจะคิดคร่าวๆ แบบนี้
ราคาอากร คือ 60,000 x 20% = 12,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 60,000 + 12,000 x 7% = 5,040 บาท
รวมเป็นภาษีอากรที่ต้องจ่าย คือ 12,000 + 5,040 = 17,040 บาท
นั่นหมายความว่า นายเห็ดซื้อกระเป๋าชาแนลใบนี้มาในราคารวม 60,000+17,040 = 77,040 บาท (ขุ่นพระ!!! เอามือทาบอก)
ส่วนการช้อปสินค้าจากร้านค้าปลอดอากร หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ดิวตี้ฟรี (Duty Free) จะต้องซื้อตอนขาออกไปยังต่างประเทศเท่านั้น และซื้อสินค้าทั่วไปได้ในมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท หากซื้อสินค้าเกินจำนวนที่ว่า (ไม่มีใบสำแดงสินค้าติดตัว) และนำกลับเข้ามาภายในราชอาณาจักร จะต้องชำระอากรที่ช่องแดงด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะมีบังคับมานาน ดังนั้น รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามนะคะ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ กรมศุลกากร เลยจ้า
เต็มอิ่มกับเรื่องราวการ หิ้วของกลับประเทศ หรือ หิ้วของไม่โดนภาษี ไปแล้ว ทีนี้ก็นำไปปฏิบัติตาม จะได้ไปเที่ยวได้อย่างสบายใจไร้กังวล ส่วนใครกำลังมองหาโปรแกรมท่องเที่ยวกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้ใจ ก็สามารถคลิกชม ทัวร์ต่างประเทศ จากมัชรูมทราเวลได้เลย จะเที่ยวใกล้ เที่ยวไกล เที่ยวกี่วัน เที่ยวแบบไหน เรามีให้คุณเลือกหลายสไตล์ตามความต้องการเลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.suvarnabhumiairport.com , www.customs.go.th