9 รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา ของคนไทยในรัชกาลที่ 9
ประชาชนคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในปัจจุบันนี้ได้ เพราะเรามีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ตามที่เราทุกคนได้เห็นผ่านพระราชกรณียกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้ มัชรูมทราเวล ขอน้อมนำพระราชกรณียกิจและโครงการต่างๆ 9 อย่าง มาบอกเล่าผ่าน รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา ทั้ง 9 รูป ให้ทุกท่านได้ไปตามรอยพระบาทสู่ดินแดนที่สวยสดและงดงามเพียงแค่ มาเที่ยวไทย ใครไปคนนั้นรู้
1. โครงการพัฒนาดอยตุง
รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา รูปแรกเป็นรูปที่พระองค์ท่านทรงงานในโครงการพัฒนาดอยตุง โครงการจากแนวพระราชดำริของสมเด็จย่าและในหลวง ร.9 ทั้งทรงแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น พร้อมอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีความงดงามทั้งทัศนียภาพ และวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบสานมาตั้งแต่ครั้นอดีต จนตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างพากันแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ชื่นชมพันธ์ไม้นานาชนิด ตลอดจนสัมผัสบรรยากาศที่รื่นรมย์ ผ่อนคลาย สบายสายตา
จังหวัด : เชียงราย
วันเวลาเปิด-ปิด : 07:00 – 17:00 น. (ทุกวัน)
ค่าเข้า : 150 บาท (เด็กสูงไม่ถึง 120 ซม. เข้าฟรี)
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดปี
การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงราย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ราว 45 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปอีกประมาณ 15 กม. หรือเดินทางโดยรถสองแถว มีบริการตั้งแต่ 07.00 น. รถออกทุก 20 นาที
2. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่
สำหรับใครที่ชื่นชอบบรรยากาศดอกไม้สีชมพู ราวกับอยู่ในสวนดอกซากุระประเทศญี่ปุ่น ไม่ต้องบินไปญี่ปุ่นก็ได้ มาเที่ยวไทย ก็มีดอกนางพญาเสือโคร่งผลิบานท่ามกลางขุนเขาสีเขียวขจี ณ ศูนย์วิจับเกษตรหลวง ตั้งขึ้นภายหลังในหลวง ร.9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านขุนวาง พ.ศ. 2523 พระองค์ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่นจำนวนมากของชาวบ้าน จึงมีพระราชดำรัชให้ปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้เป็นเกษตรที่ราบสูงเพื่อทดลอง ขยายพันธุ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชเมืองหนาว
จังหวัด : เชียงใหม่
วันเวลาเปิด-ปิด : 08.00–16.00 น. (ทุกวัน)
ฤดูท่องเที่ยว : ตุลาคม-กุมภาพันธ์
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 เลี้ยวขวาที่สามแยกบริเวณหมู่บ้านขุนกลาง (ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 31) ขับตรงไปประมาณ 18 กม. จนถึงขุนวาง
3. โครงการชลประทาน อ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง
รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา รูปต่อมา ปี พ.ศ. 2520 ในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมชลประทานและผู้ว่าราชการ จ.หนองคาย ให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาบึงโขงหลงเพื่อนำน้ำไปพัฒนาการเกษตรได้อย่างเต็มที่ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2523 จนทุกวันนี้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้หลากหลาย มีผลผลิตที่ดีขึ้น เยอะขึ้น นำมาซึ่งรายได้ ด้วยเสน่ห์แห่ง ทะเลอีสาน จนกลายสถานที่ท่องเที่ยวไปในที่สุด เหมาะสำหรับไปพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว
จังหวัด : บึงกาฬ
วันเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : ขับรถออกมาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 สายหนองคาย–อุบลราชธานี (ถนนชยางกูร) ประมาณ 70 กม.ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 3024 มุ่งหน้าไปตำบลบึงโขงหลง หาดคำสมบูรณ์อยู่ทางซ้ายมือเมื่อถึง อ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง
4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
นักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบ สูดไอดินกลิ่นธรรมชาติต้องแวะมาเยือนที่นี่ นอกจากจะได้ชื่นชมธรรมชาติอันสดใส ยังได้เรียนรู้วิถีพอเพียงตามพระราชดำริของในหลวง ร.9 อีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2525 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และพัฒนาด้านเกษตรกรรมที่เหมาะสมของสภาพพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันมีผลผลิตทางการเกษตร สินค้าแปรรูปมากมายเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของที่นี่
จังหวัด : สกลนคร
วันเวลาเปิด-ปิด : 08.30-16.30 น. (จันทร์-ศุกร์)
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : จากเทศบาลนครนครพนมไป ต.ห้วยยาง ใช้เส้นทางถนนสุขเกษมตรงมาถึงถนนสกลนคร ถึงสี่แยกตัดทางหลวงชนบทหมายเลข 3137เลี้ยวฃ้ายตรงไปบ้านนานกเค้า ระยะทางประมาณ 2.3 กม.
5. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา นี้กำลังทรงงานในโครงการในพระราชดำริ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสม เพื่อเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในพื้นที่การเกษตร และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัจจุบันกลายมาเป็นสถานที่ที่สามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมดื่มดำบรรยากาศธรรมชาติรอบๆ และอากาศที่ร่มเย็นสบายอีกด้วยค่ะ ที่เที่ยวห้ามพลาด หอคอยเฉลิมพระเกียรติ และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
จังหวัด : ลพบุรี
วันเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน 08.30-20.00 น.
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : จากตัวเมืองลพบุรี ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3017 (ลพบุรี–โคกตูม–พัฒนานิคม) ระยะทางประมาณ 48 กม.
6. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี
เมื่อปี พ.ศ. 2524-2539 บริเวณนี้เคยเป็นนากุ้งมาก่อน แต่เมื่อในหลวง ร.9 พร้อมพระราชินี ได้เสด็จผ่านบริเวณนี้พบว่าป่าในแถบนี้หายไปหมดเหลือเพียงแต่นากุ้ง จึงได้เร่งทำการพลิกฟื้นนากุ้งแห่งนี้ด้วย จนกลายเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยโกงกาง และพรรณไม้ต่างๆ ที่น่าไปเยี่ยมเยือน ที่เที่ยวห้ามพลาด เรือนโกงกาง หอชะคราม และเรือนโปรงขาว
จังหวัด : ประจวบคีรีขันธ์
วันเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน 08.30.- 16.00 น.
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : จากตัวเมืองหัวหิน ใช้ถนนเพชรเกษมผ่านทางเข้าหมู่บ้านเขาเต่า เลี้ยวซ้ายบริเวณทางเข้าวนอุทยานปราณบุรีจากนั้นผ่านทางรถไฟให้เลี้ยวขวาไปที่ปากน้ำปราณ ซึ่งจะมีการติดป้ายบอกเส้นทางตลอดสาย
7. โครงการชั่งหัวมัน
ชื่อโครงการสุดน่ารักนี้ เป็นจุดกำเนิดมาจาก มันเทศ และความห่วงใยที่มีต่อพสกนิกรของในหลวง ร.9 โดยมีที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ ได้นำมันเทศมาถวายแด่ในหลวงที่พระราชวังไกลกังวล ในตอนนั้นเองพระองค์ได้มีรับสั่งให้ข้าราชบริพารนำไปเก็บไว้ที่ตราชั่งในห้องทรงงาน ก่อนเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาอีกพบว่ามันเทศเกิดแตกใบออกมา จึงรับสั่งให้จัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร จนกลายเป็นโครงการชั่งหัวมันที่เปิดให้เข้าไปเที่ยว เรียนรู้ และจับจ่ายสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับการเกษตรในท้องถิ่นนั้น
จังหวัด : เพชรบุรี
วันเวลาเปิด-ปิด : 08.00-16.00 น. (ทุกวัน)
ค่าเข้า : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : ระยะทางประมาณ 47 กม. จาก อ.ท่ายาง ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีไปทางตำบลท่าไม้รวก ผ่านที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระปุก – เขาเตาหม้อผ่านโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ถึงโครงการชั่งหัวมัน
8. โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล
ในปี พ.ศ. 2524 ในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาผลไม้ โดยเแบ่งเป็นสวนผลไม้ พื้นที่ว่างเปล่า และอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สำหรับใครที่มาเที่ยวเมืองจันท์ ต้องไม่พลาดมาที่นี่ เพื่อแวะมาชมไร่ของพ่อหลวงเรา ที่มีผลไม้นานาชนิดให้ได้ชิมกันนะคะ
จังหวัด : จันทบุรี
วันเวลาเปิด-ปิด : 08.30-16.30 น. (ทุกวัน)
ฤดูท่องเที่ยว : เดือนพฤษภาคม
การเดินทาง : จากถนนสุขุมวิท ใช้เส้นทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 3408 ขับตรงไป ประมาณ 10 กม. เมื่อพบป้ายโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริตั้งอยู่ให้เลี้ยวซ้าย
9. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต่อมาเป็น รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา ขณะกำลังทรงงาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เนื่องจากภาคใต้ดินพรุ มีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช ในหลวง ร.9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ในปี พ.ศ. 2525 หรือเรียกอีกชื่อว่า โครงการแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงกลายมาเป็นต้นแบบของเกษตรกรตัวอย่าง ที่สามารถแวะมาเยี่ยมชม ศึกษาเป็นแนวทางได้
จังหวัด : นราธิวาส
วันเวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ 08.00-16.30 น.
ฤดูท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี
การเดินทาง : ใช้ถนนโคกเคียน หมายเลข 4136 ตัวศูนย์ฯ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง บ้านโคกสยา ห่างจากตัวเมือง 8 กม.
รูปพ่อหลวง ในความทรงจํา ที่ทาง มัชรูมทราเวล ได้เรียงร้อยมาให้นั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ท่านได้ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อพวกเราพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด แม้ตอนนี้ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่พวกเราชาวไทยจะไม่มีวันลืมเลือนและระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่เสมอ พ่อหลวงจะสถิตอยู่ในทุกความทรงจำ สถิตอยู่ในดวงใจของเราคนไทยตลอดกาล