ประมวล พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 ที่คนไทยต้องรู้
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศต้องหัวใจสลาย เมื่อทราบข่าวการสวรรคตของพ่อหลวงอันเป็นที่รักของชาวไทยทุกคน มัชรูมทราเวลจึงขอรวบรวม พระราชกรณียกิจ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันนำมาซึ่งประโยชน์และความสุขของชาวไทยมา ณ ที่นี้
โครงการหลวง
พระราชกรณียกิจ ร.9 ย้อนหลังไปเมื่อ ปี 2512 ณ ดอยสูงทางภาคเหนือ ในหลวงทรงพบกับชาวเขาที่ยากจนแร้นแค้น ดำรงชีวิตด้วยการปลูกฝิ่นและการปลูกไร่เลื่อนลอย ในครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ตั้ง “โครงการหลวง” ขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา โดยการทำการวิจัยพืชเมืองหนาวที่เหมาะกับการเจริญเติบโตในพื้นที่ดอยสูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น อย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการปลูกเพื่อรับประทาน พอเหลือก็ส่งขาย ภายใต้การดูแลอย่างใส่ใจ แหล่งน้ำที่สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี กว่าจะมีผลผลิตเพื่อขาย และลดพื้นที่ปลูกฝิ่น จากพืชผักไม่กี่ชนิดในเริ่มแรก จนถึงวันนี้ โครงการหลวงมีพืชผักกว่า 380 ชนิด และไร่ฝิ่นหายจากแผ่นดินไทยไปจนหมดสิ้น
โครงการหลวงถือเป็นองค์กรแรกของโลกที่แก้ไขการปลูกฝิ่นโดยการปลูกพืชทดแทน สามารถช่วยชาวเขาจำนวน 150,000 คน กว่า 35,000 ครอบครัว ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และป่าไม้ต้นน้ำได้รับการดูแล
โครงการฝนหลวง ฝนจากฟ้าของพระราชา
“โครงการฝนหลวง” เป็น พระราชกรณียกิจ ร.9 ที่เกิดจากการที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดทางภาคอีสานในปีพ.ศ. 2498 ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของราษฎร ที่เกิดจากการขาดน้ำกินน้ำใช้ และการไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตรเนื่องจากฝนแล้ง พอเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร ทรงคิดถึงเรื่องความทุกข์ยากของราษฎรที่ขาดฝน ด้วยความในหลวงทรงเป็นผู้ที่ขวนขวายหาความรู้ใส่พระองค์เสมอ พระองค์ทรงเคยอ่านเจอว่า “ฝนสามารถทำได้” จึงทรงเรียกหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล (นักประดิษฐ์ชื่อดังที่ประดิษฐ์ควายเหล็กในสมัยนั้น) เข้าเฝ้าเพื่อสานต่อ “การทำฝน” แต่การทำฝนนั้นไม่ใช่จะสำเร็จได้ง่ายๆ พระองค์ท่านต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล วิเคราะห์วิจัยเอกสาร เพื่อพระราชทานให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ทำการทดลองกว่า 14 ปี
14 ปีถัดมาในปี พ.ศ. 2512 โครงการสร้างฝนจากเมฆที่เคยพระราชดำรัสไว้ ได้ทดลองกับท้องฟ้าจริงเป็นครั้งแรกที่เขาใหญ่ โดยการใช้เครื่องบิน หยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว ลงบนก้อนเมฆที่ความสูงประมาณ 10,000 ฟุตเหนือพื้นที่ทดลอง จากนั้นสามารถเห็นได้ชัดว่าเมฆเริ่มรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ท้ายที่สุดฝนก็ตกลงมาจริงๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าฝนสามารถสร้างได้จริง
จวบจนวันนี้ ฝนหลวงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังคงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทยเสมอมา สมดังน้ำพระราชหฤทัย
“ชีวิตไทยดำรงอยู่ได้ด้วยน้ำเป็นปัจจัยหลัก น้ำและชีวิตไม่สามารถแยกกันได้ หากน้ำนี้คือน้ำพระทัยจากในหลวง” – สารคดีเฉลิมพระเกียรติ
หน่วยแพทย์พระราชทาน
พระราชกรณียกิจ ร.9 นี้เกิดจากการที่พระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรตามถิ่นธุรกันดาร ทรงทอดพระเนตรเห็นราษฎรที่เจ็บป่วย ทรงพระราชทานให้หมอผู้ติดตามประจำพระองค์ ให้ทำการรักษาราษฎรที่มาเข้าเฝ้า เกิดเป็นที่มาของคำว่า “แพทย์พระราชทาน” หลังจากนั้นหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมกับหน่วยแพทย์พระราชทาน บุกป่าผ่าดงไปให้การรักษาประชนชนในชนบทที่ห่างไกล ได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง
เกษตรทฤษฎีใหม่
“ถนนดิสโก้” เป็นถนนแห่งความทรงจำแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ถูกเรียกว่าถนนดิสโก้นั้น เพราะเป็นถนนในชนบทที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ได้ราบเรียบอย่างถนนลาดยาง ถนนดิสโก้อยู่ที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ในหลวงทรงทอดพระเนตรลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เห็นนาข้าวพื้นที่ 8 ไร่ของนางเพียงศรี และหนองน้ำเล็กๆ ใกล้ๆ ผืนนานั้น ทรงตระหนักว่าคนไทยมีที่พื้นที่ทำกินน้อย และต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ จากนั้นทรงพระราชดำเนินไปยัง อ.เขาวง โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า ทอดพระเนตรเห็นเมล็ดข้าวลีบๆ ในนาข้าวแห้งแล้ง ทรงคิดว่า ทำอย่างไรผืนดินเพียงน้อยนิดของเกษตรกรที่พึ่งพาฝนฟ้าตามธรรมชาติ จะสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ที่ดิน 8 ไร่และหนองน้ำเล็กๆ แห่งนั้น นำมาสู่ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ทรงซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ เพื่อทำการทดลอง “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นแห่งแรก
จากนั้น ทรงซื้อที่ดินแถววัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี จำนวน 15 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกข้าว 5 ไร่ ทรงคำนวณว่า พื้นที่ปลูกข้าว 5 ไร่นี้ จะสามารถผลิตเมล็ดข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคของคน 5-6 คนตลอดทั้งปี อีก 5 ไร่ให้ปลูกพืชผสมผสาน โดยเกษตรกรสามารถเลือกชนิดของพืชจะนำมาปลูกได้ ที่ดินอีก 3 ไร่เอาไว้ใช้สำหรับสำรองน้ำในเวลาขาดฝนหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งการขุดบ่อนี้นอกจากจะเก็บไว้ใช้ในยามน้ำขาดแคลน จะเอาไว้ใช้เลี้ยงปลาด้วย การขุดบ่อก็ต้องมีวิธีการ เพื่อให้ปลาได้มีที่นอน ทรงคำนวณถึงจำนวนการใช้น้ำของพืช รวมถึงอัตราการระเหยของน้ำด้วย และ 2 ไร่เป็นที่อยู่อาศัย ถนน ทางเดิน สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และทานได้ ทำให้เจ้าของที่มีกิน มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต
เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของ พระราชกรณียกิจ ร.9 ของในหลวงอันเป็นที่รักของพวกเรา เป็นสิ่งที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชาวไทยทุกคนอย่างหาที่สุดไม่ได้ แต่ละ พระราชกรณียกิจ ล้วนต้องใช้ความเพียร พยายาม และความอดทนกว่าจะประสบผลสำเร็จ เราชาวไทยจะปฏิบัติความดีด้วยความความเพียรพยายาม เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สืบไป เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองพสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์ ข้าพระพุทธเจ้า บริษัท มัชรูมทราเวล จำกัด
ที่มา มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิโครงการหลวง, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, royalrain.go.th