โมริโอกะ ซันสะ โอโดริ…เทศกาลสำคัญที่ถูกบันทึกลง”กินเนสบุ๊ค”
เทศกาลที่ไหนจะยิ่งใหญ่จนได้ลง”กินเนสบุ๊ค”…
ก็ที่เมือง”โมริโอกะ”นี่ไง!!
มาเยือนประเทศแห่งงานเทศกาลทั้งทีไม่ไปเดินในงานเทศกาลสำคัญก็คงไม่ได้ แต่ที่จะไปไม่ใช่เทศกาลสำคัญธรรมดาๆนะ แต่เป็นเทศกาลสำคัญของชาวเมืองโมริโอกะเค้าเลยล่ะค่ะ ว่าแล้วก็ตามไปงาน โมริโอกะ ซันสะ หนึ่งใน บิ๊กไฟว์ ของงานเทศกาลแห่งภูมิภาคโทโฮกุ ครองตำแหน่งเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดอิวาเตะอีกต่างหาก งานนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญมากดูได้จากระยะเวลาจัดงานก่อนเลยที่จัดกันข้ามวันข้ามคืนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 4 สิงหาคม เพื่อระลึกถึงตำนานของเมืองนี้นั่นเอง
ตำนานเมืองเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อตอนที่ปีศาจผู้ชั่วร้ายถูกเทพเจ้าของศาลเจ้ามิซุอิชิลงทัณฑ์ และให้ปีศาจให้คำสัตย์ว่าจะไม่กระทำเรื่องเลวร้ายใดๆ อีก พร้อมกับประทับสัญญาเป็นหลักฐานด้วยการกดมือลงบนก้อนหินขนาดใหญ่ และด้วยแรงมหาศาลของปีศาจทำให้เกิดรอยฝ่ามือทั้งห้าหลงเหลืออยู่บนหิน ก้อนหินนั้นจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนและแสดงให้เห็นถึงความสงบสุขเนื่องจากปีศาจได้ทำสนธิสัญญาที่จะไม่ก่อความวุ่นวายแล้วนั่นเอง ซึ่งตำนานของเมืองโมริโอกะนี้ก็สอดคล้องกับที่มาของชื่อจังหวัดอิวาเตะได้เป็นอย่างดี เพราะเมืองแห่งนี้มีความหมายว่า “ฝ่ามือหิน” นั่นเอง
นอกจากจะเป็นเทศกาลสำคัญของภูมิภาคแล้วยังเป็นเทศกาลที่ได้บันทึกลงใน กินเนสบุ๊ค-เวิล์ด-เรคคอร์ด อีกด้วย เพราะโมริโอะกะ ซันสะ โอโดริ เป็นเทศกาลที่มีมือกลองไทโกะ (กลองพื้นเมือง) ที่ขนกันมาเยอะที่สุดในโลกนั่นเอง โดยในงานนี้ใช้มือกลองมากถึงหมื่นคนเลยทีเดียว #เยอะมากกกก (ก. ไก่ ล้านตัว) สมกับที่ได้ลงกินเนสบุ๊คจริงๆ นอกจากกลองไทโกะ แล้วยังมีนางรำที่ทำการร่ายรำ โดยเป็นสัญลักษณ์ที่อิงมาจากการที่ชาวบ้านโห่ร้องยินดี และร่ายรำไปรอบๆหินสัญญาของปีศาจ
ขบวนแห่ในเทศกาลนี้จะแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรก คือ กลองไทโกะ ส่วนที่สอง เป็นเครื่องเป่า และส่วนที่สาม คือ ส่วนการร่ายรำ นั่นเอง สาเหตุที่เทศกาลนี้ยิ่งใหญ่และมีผู้สนใจมากมายก็เพราะการแห่ในเทศกาลนี้เปี่ยมไปด้วยพลังที่จะกระตุ้นความสนุกสนานของผู้ชมให้สามารถสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจไปกับความพร้อมเพรียงของมือกลองไทโกะทั้งหลาย ที่สามารถยิ้มและตะโกนร้องเพลงไปในเวลาเดียว ทั้งที่แบกกลองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางครึ่งเมตร น้ำหนัก 6 – 7 กิโล และสามารถตีกลองเข้าจังหวะได้อย่างพร้อมเพรียง
ในส่วนของผู้ร่ายรำ ก็เช่นกัน ท่าที่ใช้อาจจะดูไม่ซับซ้อนมากแต่ความจริงพิถีพิถันมากในเรื่องของทวงท่าและการรักษาจังหวะให้เข้ากับเครื่องดนตรีและการเคลื่อนตัวไปตามถนนที่มีผู้คนมากมาย ดังนั้นผู้ที่สามารถร่วมร่ายรำในขบวนแห่ได้จะต้องเป็นผู้ที่เข้ารวมการฝึกซ้อมและเป็นสมาชิกของทีมที่ตั้งโดยสถาบันหรือองค์กรต่างๆ เพื่อให้สามรถร่ายรำได้อย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง และเข้ากับจังหวะนั่นเอง ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรใดๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกตัดออกจากงานเทศกาลนะ เพราะในช่วงท้ายงานจะมีการร้องเล่นเต้นรำกันเป็นวงกลม ซึ่งสามารถเข้าร่วมได้ ส่วนเพลงและคำร้องที่นักดนตรีและนักเต้นนำเสนอออกมาเป็นเพลงที่ชาวเมืองเชื่อกันว่าจะสามารถนำโชคดี มาสู่คนที่ได้ร่วมรับฟังกันอย่างพร้อมเพรียง ด้วยเสียงที่เกิดจากการประสานกันของคนจำนวนมากทำให้บทเพลงมีพลังในการกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิมได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียวเชียวแหละ
นอกเหนือไปจากเรื่องดนตรีและการร่ายรำแล้ว การแต่งกายของผู้ร่วมขบวนแห่ยังเน้นสีสันสดใสสะดุดตาพาให้เพลินหูแล้วยังเพลินตาในเวลาเดียวกัน ใครที่ชอบงานเทศกาล หลงใหลในวัฒนธรรมพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ เราขอชวนให้ไปเทศกาลโมริโอกะ ซันสะ โอโดริ ให้ได้ เพราะมีครบทั้งการดนตรี การร่ายรำ การแต่งกาย ความเชื่อ รวมไปถึงตำนานเมืองอันเปี่ยมเสเน่ห์และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ที่หลากหลายไม่ซ้ำแบบใครอีกด้วย และแน่นอนว่าในงานเทศกาลแบบนี้ทั้งของเล่น ของกิน การแสดงต่างๆ จัดเต็มคุ้มค่ากับการเดินทางอย่างแน่นอน