สวัสดีค่ะ น้องพี่ลูกหลานทุกรุ่น ป้ากับลุงอยู่แต่ในแวดวงวิชาการกว่าจะรู้จักท่องเน็ตและท่องโลกก็เกือบจะไปไม่ไหวแล้ว แต่ด้วยใจสู้และมุ่งมั่นเพราะตอนทำงานต้องเดินทางรอบทิศทั่วไทยทำให้ชอบการท่องเที่ยว พอได้เที่ยวก็เหมือนติดเชื้อต้องไปและต้องไป แต่ด้วยเงินที่สะสมด้วยลำแข้งไม่มากนัก และปี 2552-2555 ตระเวนเป็นวิทยากรบรรยายตามสถานศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชนทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่ขับรถเองจึงเบื่อการขับรถมาก รวมทั้งเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบทำตามคนอื่นอยากทำอะไรอย่างที่ใจอยากทำ
การเที่ยวแบบแบ็กแพคแม้สังขารจะไม่ค่อยอำนวย แต่พอจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว อะไรที่คิดว่าไม่ไหวก็ต้องไหว
การได้ไปท่อง ยุโรป 64 วัน 32 ประเทศ 75 เมืองใหญ่ไม่นับเมืองเล็กๆ ด้วยงบสองคนไม่ถึง 400,000 บาท ทำให้เราอยากแบ่งปันประสบการณ์ เราอยากบอกว่า อายุ เพศ วัย ฐานะ ไม่ใช่ปัญหาถ้าใจสู้….
จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว การวางแผน เตรียมการ ภาษาและฟิตร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น ขนาดก่อนออกเดินทาง 1 เดือนป้าประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องแบกยาไปด้วยถึง 1 กก.ยังไหว
เราเพิ่งเริ่มเที่ยวกันอย่างจริงจังในปี 2558 โดยไป อินเดีย-เนปาล เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว ยุโรป 33 ประเทศ 64 วัน ที่เปิดตัวที่ยุโรปก่อนเพราะเป็นทริปล่าสุดที่ยาวนานที่สุดโดยนำเสนอเป็นตอนๆ เป้คนละใบของเราน้ำหนักใบละ 7 กก. เดินทางจากไทยสู่โอมาน แวะเที่ยวทุกประเทศตั้งแต่อียิปต์ ตุรกี เข้าสู่กรีซ อิตาลี วาติกัน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โมนาโค สเปน โปรตุเกส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอรเวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ รัสเซีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ เชค เยอรมันนี ลักเซมเบิร์ก ลิกเทนสไตน์ ออสเตรีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย และกาตาร์ ก่อนกลับสู่ประเทศไทย
ตั้งแต่เข้าสู่กรุงโรมแล้วส่วนใหญ่เราใช้บริการรถไฟโดยตั๋ว EU Rail Pass 60 วัน การผจญภัยของเราอยู่ที่การต่อรถไฟ รถบัส เรือข้ามฟาก การหาที่พักซึ่งจองโดยอาศัย booking.com เราตกรถ พลัดหลง หาที่นอนไม่ได้ ถูกพวกไร้บ้านไล่ที่ อากาศที่หนาวเหน็บ กินอาหารที่ไม่อยากกินแต่ก็ต้องกินเพื่อให้ท้องไม่หิว
22 มิถุนายน 2558 ป้ากับลุงออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 09.15 น.โอมานแอร์ไลน์นำเราสู่สนามบินนานาชาติมัสกัตโดยสวัสดิภาพในเวลา 11.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น เวลาไทยกับโอมานห่างกัน 3 ชม. เราต้องรอเปลี่ยนเครื่องที่มัสกัต แอร์โฮสเตสสาวไทยแนะนำเราว่าถ้าอยากจะเข้าไปเที่ยวในเมืองก็ให้ทำวีซ่าที่สนามบิน ค่าธรรมเนียมประมาณ 400 บาท แล้วนั่งแท็กซี่ไปชมมัสยิดกับตลาด แต่ช่วงนี้เป็นเดือนรอมฎอน ทุกอย่างจะเงียบเหงา ร้านอาหารก็เปิดตอนเย็นเพราะเขาเริ่มกินมื้อแรกกันหลัง 18.30 น.
เราตัดสินใจไม่ออกจากสนามบินเพราะมองออกไปข้างนอกมีแต่ความร้อนแล้งไม่เห็นต้นไม้เลย ตึกรามบ้านช่องก็มองไม่เห็น มีแต่เนินดินแห้งๆ ที่อยู่ติดกับทะเลที่ดูเวิ้งว้าง ขอนั่งเล่นเย็นๆ ที่สนามบินแทนการออกไปผจญแดดที่ร้อนเปรี้ยง กรุงมัสกัตเมืองหลวงของโอมานอยู่ติดทะเล มีท่าเรือน้ำลึกแต่ดูแห้งแล้งมาก มีแต่ภูเขาเตี้ยๆ โล่งๆ แต่ในสนามบินมีสีเขียวของไม้ประดับต้นเล็กตรงที่นั่งรอ พิมพ์ข้อความรอส่งตอนมี wifi น้องแอร์ฯ บอกว่าในบรรดาคนตะวันออกกลางด้วยกันคนโอมานเป็นคนน่ารักและมีน้ำใจมากแม้บ้านเมืองจะแห้งแล้ง เราอยู่ในสนามบินจนถึงเวลา 21.35 น. ก็ได้เวลาขึ้นเครื่องฯ อีก 1 ชั่วโมง ต่อจากนั้นเครื่องบินลำใหญ่และนั่งสบายกว่าเดิมก็ออกจากท่าอากาศยานมัสกัต
วันที่ 23 มิถุนายน 2558 เวลา 01.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นของอียิปต์ซึ่งช้ากว่าไทย 5 ชม .เครื่องบินลำใหญ่ก็ร่อนลงจอดด้วยความเรียบนิ่งและเปิดประตูให้ลงต่อรถร่วมสนามบินไปยังตัวอาคารสนามบินไคโร ซึ่งเหมือนกับสนามบินมัสกัตคือไม่มีงวงช้างออกไปรับ ต้องต่อรถบัสเข้าตัวอาคาร เมื่อเข้าสู่สนามบินขณะที่แลกเงินก็หาข้อมูลการเดินทางสู่ตัวเมืองไปด้วย พนักงานที่ให้แลกเงินไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการต่อรถบอกให้ไปต่อรถ shuttle bus ข้างนอกเพื่อไปสถานีรถประจำทาง นั่งฟรีแต่รถประจำทางจะเริ่มวิ่งในเวลา 6 โมงเช้า ความวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อเราก้าวออกจากสนามบิน ทั้งลีมูซีนทั้งแท็กซี่ตามตื๊อจนน่ารำคาญ รถวิ่งข้างนอกสนามบิน ท่ามกลางคนเห็นแก่ได้ มีสาวสวยที่ยืนรอรถจากบ้านไปรับ แม่บ้านที่ไปรับญาติมีเด็กเล็กเต็มรถและคนเข็นรถส่งผู้โดยสารมีน้ำใจกุลีกุจอช่วยจนสุดความสามารถ
ในที่สุดเราก็ขึ้นรถ shuttle bus ไปที่สถานีขนส่งจนได้ สาเหตุที่หารถ shuttle bus ไม่เจอเพราะรถ Terminal 1 ไม่เข้าไปรับผู้โดยสารในสนามบิน วิ่งวนอยู่ด้านนอกลานจอดรถ ขึ้นด้านสนามบินไปที่สถานีขนส่งรถวิ่งไม่นานเขาให้เราลงข้างนอกสถานีขนส่งก่อนวนไปสุดสายที่ Terminal 3 ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารขาออกที่เราจะต้องไปใช้บริการตอนจะไปตุรกีค่ำวันพรุ่งนี้ ที่สถานีขนส่ง พนักงานที่มีหน้าที่ประจำสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำละหมาดและทำงาน ป้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำตัวเล็กมากแต่ดูแลห้องน้ำได้สะอาดแม้ห้องน้ำล็อคไม่ได้ก็ไม่น่าหนักใจ เพราะไม่มีคนพลุกพล่านเวลามีคนเดินเข้าไปคนข้างในก็ส่งเสียงให้รู้ว่ามีคนอยู่นะ
ก่อนเดินทางเราอ่านและเตรียมตัวพอสมควรทำให้เราระมัดระวังตัวกันมากแต่ก็เกือบเอาตัวไม่รอดตั้งแต่สนามบิน เพราะทั้งลีมูซีนและแท็กซี่ไม่มีทีท่าว่าจะสลดกับตำรวจสนามบิน แต่ดูเหมือนว่าทั้งตำรวจ ทั้งคนขับรถลีมูซีนและคนขับแท็กซี่จะเป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นใครที่หวังพึ่งตำรวจในการบอกเส้นทางที่สนามบินไคโรคงลำบากแน่
เราสอบถามสายรถประจำทางที่จะไปจัตุรัสทารีร์ ชมพิพิธภัณฑ์ เดินไป Garden City ริมน้ำไนล์ ตลาด Khan El Khalili ตรงข้ามตลาดคือ Al Azha Mosque ต่อที่ Citadel Muhamed Ali Pasha Mosqueที่จัตุรัสทารีร์มีขยะเกลื่อนกลาด กลิ่นปัสสาวะคละคลุ้งเพราะไม่มีห้องน้ำสาธารณะ ยิ่งตรงไหนเป็นเสายิ่งเหม็นมากเพราะมีที่บังเวลายืนฉี่ เราเดินไปถามนายตรวจว่าเราจะไปสถานีเมโทรได้อย่างไร นายตรวจบอกสายรถและชี้ป้ายให้เราแล้วก็ตามดูจนเราขึ้นรถ ที่นั่งรอรถประจำทางเก่าจนมีลายแตกดูเก๋ามากๆ การเดินทางจากสนามบินไปจัตุรัสทารีร์มีรถไปหลายสาย ถ้าคิดจะถามข้อมูลการเดินทางในอียิปต์ควรถามคนขับรถประจำทางหรือถามนายท่าจะดีที่สุด เพราะพวกเขารู้ดีและไม่มีผลประโยชน์ คนที่ต้องหลีกเลี่ยงคือพวกแท็กซี่และพนักงานโรงแรม เราจะตกเป็นเหยื่อแบบไม่รู้ตัว ตามสถานที่สาธารณะไม่มีห้องน้ำและถังขยะทำให้กลิ่นปัสสาวะและขยะเป็นของคู่กับสถานที่สาธารณะทั่วๆ ไป
เราลงจากรถประจำทางแล้วนั่งเมโทรไปสถานี Giza เดิน 100 เมตรถึงถนน Haram ข้ามถนนต่อบัสสาย 900, 907ระยะทางประมาณ 10 กม. ค่าโดยสารคนละ 2 ปอนด์ พอลงจากรถบัสเราถูกตามตื๊อจนลุงเวียนหัวเพราะเขาพูดๆๆๆ จนลุงหันมาหัวเสียเอากับป้า…. ป้าจึงบอกเขาว่า กรุณาไปหาลูกค้าที่อื่นอย่ามาทำให้สามีภรรยาเขาทะเลาะกันเลย แล้วก็วิ่งหนีไปสมทบกับครอบครัวที่มี 4 คนพ่อแม่ลูกกำลังลงจากรถอยู่ข้างหน้า เราวิ่งนำหน้าครอบครัว 4 คนพ่อแม่ลูกไปจนถึงพีรามิดโดยไม่แวะพักที่ไหนเลย ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงมีรถม้าและไกด์เดินเข้าไปเสนอบริการแต่เราปฏิเสธ เราแค่อยากได้ภาพที่บอกว่าเราไปถึงแล้วด้วยตัวเอง ส่วนรายละเอียดเราดูคลิปจากบ้านไปแล้ว การชมพีรามิดท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงไม่ได้น่าอภิรมย์เลย แต่ที่เราทึ่งคือความสามารถในการสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมั่นคงท่ามกลางความร้อนระอุของทะเลทรายให้แข็งแกร่งทนทานจนเป็นมรดกโลกได้
หลังจากได้ภาพถ่ายสมใจ เราเดินลงไปขอความอนุเคราะห์วิธีการเดินทางไปยังโรงแรมบาร์เซโล่ไคโรปิรามิดส์ที่เราจองไว้ ตามชื่อและที่อยู่ในใบจองที่เราพริ้นท์ติดไป พนักงานการท่องเที่ยวสตรีอาวุโสแนะนำให้เรานั่งรถไมโครบัสสีขาวซึ่งมันคือรถตู้คันเล็กวิ่งตามคิวอยู่ที่เชิงเขาข้างล่างโดยบอกว่าค่าโดยสารประมาณ 5 ปอนด์ บอกให้เขาส่งที่หน้าโรงแรมเขาจะรู้ดี โรงแรมอยู่ห่างจากพีรามิดประมาณ 3 กม. ค่าโดยสารคนละ 2 ปอนด์ เมื่อถึงโรงแรมเข้าเช็คอินถามพนักงานต้อนรับเรื่อง wifi เขาบอกว่าไม่มี wifi ฟรี แต่พนักงานยกกระเป๋าบอกว่าถ้าเป็นการจองทางอินเทอร์เน็ตจะได้ wifi ฟรี โทรหลอกให้ป้าเดินลงไปที่เคาน์เตอร์อีกครั้ง ตอนแรกบอกว่าจองที่พักผ่านเน็ตจะได้ใช้ wifi ฟรีแต่เอาเข้าจริงๆ จะให้จ่ายเป็นชั่วโมง ตอนค่ำให้คนเอาผลไม้ไปให้บอกว่าเป็นของสมนาคุณจากโรงแรมเราจึงไม่ยอมรับเพราะเราต้องการพักจริงๆ ไม่มีอารมณ์จะละเลียดอาหารใดๆ ตอนดึกยังโทรไปปลุกอีก จะตื๊อเอาให้ได้ ตอนเช้าเราจึงเดินทางเองโดยไม่รับบริการแท็กซี่ราคา 225 ปอนด์ที่ที่พนักงานต้อนรับกับคนขับเสนอ
วันพุธที่ 24 มิถุนายน 2558 เรารีบตื่นและออกจากโรงแรมตอน 04.30 น. นั่งรถไมโครบัสไปเมโทรที่สถานีกิซ่า คนละ 1.5 ปอนด์ รถส่งเราใกล้ทางเดินไปสถานีแต่เราต้องรอให้สถานีเปิดเวลา 05.00 น. มีคนอื่นๆ ไปยืนรอพร้อมเราด้วย ค่ารถเมโทรคนละ 2 ปอนด์ ไปสถานีซาดัต แล้วขึ้นไปต่อบัสเพื่อไปสถานีขนส่งย้อนรอยการเดินทางเมื่อวานนี้ แต่คราวนี้เราไปลงที่ Terminal 3 ซึ่งเป็นขาออก อาคารบ้านช่องของอียิปต์มีสีเบจหรือไม่ก็สีเหมือนกับที่เราเห็นตามงานศิลปะของอียิปต์ ทั้งเมืองจึงดูเคร่งขรึมหมองหม่นเหมือนยังอยู่ในสมัยอัยคุปต์ ทุกอย่างดูเก่าคร่ำครึ ทำให้เห็นความแข็งของวัฒนธรรมและรู้สึกชื่นชมในความอนุรักษ์นิยมของชาวอียิปต์
ก่อนออกจากสนามบินป้าถูกชายชาวอียิปต์ 2 คนแซงคิวแลกเงิน ด้วยเวลาจำกัดและรอไม่ได้ ทำให้เราติดเงินปอนด์อียิปต์กลับบ้านเพราะเมืองไทยไม่รับแลก ตอนที่เราลงเครื่องก็ถูกคุณแม่กับลูกสาวคู่หนึ่งโฉบคิวเข้าห้องน้ำไปครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนจากยังเจออีกครั้ง…. แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้เจอคนสวยบาดใจเหมือนพระนางคลีโอพัตราเลย เราไม่รู้ว่าอาหารการกินของอียิปต์เป็นอย่างไรเพราะเราตุนอาหารไปจากบ้านและจากบนเครื่องบินที่สายการบินโอมานจัดเต็ม เป็นพวกแป้งที่กินอิ่ม ภูมิอากาศแบบทะเลทรายทำให้กรุงไคโรไม่มีต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีแต่ต้นไม้ที่ปลูกซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นปาล์ม ที่ผ่านมาทั้งอียิปต์และโอมานแดดแรงมาก พระอาทิตย์ขยันจริงๆ เริ่มโผล่จากขอบฟ้าก่อนเวลา 05.00 น.กว่าจะลับขอบฟ้าก็ใกล้เวลา 21.00 น.
เราออกจากสนามบินนานาชาติไคโรตามเวลาที่ระบุไว้ในตั๋วเครื่องบิน คือ 08.55 น.ตามเวลาท้องถิ่นที่ตามหลังประเทศไทย 4 ชั่วโมง เครื่องบินลำใหญ่ของสายการบินเทอร์คิชแอร์ไลน์ก็นำเราทะยานขึ้นจากสนามบินไคโรมุ่งหน้าสู่กรุงอิสตันบูล หลังอาหารเช้าหลับ 1 งีบ ก็ได้ยินเสียงประกาศจากกัปตันว่าเหลือเวลาอีก 25 นาทีก็จะถึงอิสตันบูลแล้ว บนจอปรากฏภาพแผนที่เดินทางของเครื่องบินจากไคโรสู่อิสตันบูล เวลา 12.05 น. วันเดียวกัน เครื่องบินจอดสนิทและมีรถบัสร่วมบริการรอรับที่หน้าบันไดตามเคย
ที่สนามบินที่นั่นไม่มีความวุ่นวายเหมือนที่ไคโร เราแลกเงินแล้วเดินตามป้าย M เพื่อไป Metro สาย 1 สีแดงแต่เราไม่สามารถซื้อตั๋วได้เนื่องจากเครื่องไม่รับเงินที่เกินจากธนบัตรใบละ 10 ลีรา ขอแลกจากพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ให้แลก แต่ในที่สุดก็มีคนช่วยเราจนได้ จากสถานี ใต้ดินที่สนามบินผ่านสถานี Ulubatli-Topksapi ซึ่งอยู่บนดินมองเห็นทั้งเมือง ไปลงที่สถานี Zeytinburnu ซื้อตั๋วใหม่เลี้ยวออกไปต่อรถรางไปจัตุรัสสุลต่านอาเหม็ด (มัสยิดสีฟ้า) เส้นทางที่รถรางผ่านเป็นย่านธุรกิจตลอดเส้นทางมีต้นไม้ใบแฉกคล้ายใบเมเปิลขนาบสองข้างทางริมถนนซึ่งข้ามไปเป็นอาคารร้านค้าและธุรกิจ อาคารบ้านเรือนสวยงาม สะอาดน่าอยู่ เมืองนี้เป็นเมืองแรกที่เราหมายมั่นว่าถ้ามีโอกาสเราจะกลับไปเยือนอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง
เมื่อลงจากรถแล้วเดินไปที่จัตุรัสฯ เราพบว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและสวยงามโอ่อ่าและน่าตื่นตะลึง ทุกอย่างอยู่ใกล้กันทั้งสุเหร่าสีน้ำเงิน อะยาโซเฟีย วังท็อปกะปิและบริวารอื่นๆ รอนักท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น ฝนก็รออยู่ที่นั่นเช่นกัน ความร่มรื่นของต้นไม้อยู่ที่ไหน ฝนก็มักจะอยู่ที่นั่น มีนักท่องเที่ยวมากมายส่วนใหญ่เป็นมุสลิมรวมตัวกันอยู่ที่นั่น มีรถนำเที่ยวสีแดงคันใหญ่เปิดหลังคา ใช้เวลารอบละ 2 ชั่วโมงนำเที่ยวสถานที่สำคัญรอบเมือง ด้านหลังวังท็อปกะปิเป็นช่องแคบที่กั้นทวีปเอเชียกับยุโรป มีรถเข็นตั้งตู้ขายขนมแป้งอบที่เป็นวงมีไขว้ตรงกลางในราคาวงละ 2 ลีรา มีคนมุงซื้อเพราะไม่มีอย่างอื่นขาย เราลองซื้อมาชิมบ้าง เป็นแป้งอบใส่เกลือถ้ามีเนยก็คงน้อยมาก กัดและดึงทีก็หัวสั่นหัวคลอนเพราะมันเหนียวมากแต่ลุงชอบบอกว่ามันเคี้ยวมันดี ผู้คนในตุรกีส่วนใหญ่รูปร่างป้อมๆ ผิวกึ่งขาวกึ่งเหลือง
วันที่เราไปท้องฟ้าครึ้มฝนโปรยเล็กน้อย ผู้คนที่นั่นมีคนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่มากนักแต่ก็พอจะหาได้ ขากลับจากสุเหร่าฯ บนรถรางเราเจอลุงใจดีที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้พาเราเข้าช่องต่อรถใต้ดินโดยใช้บัตรของเขาแม้มี เจ้าหน้าที่เบรกเขาก็ทำท่าเหมือนบอกว่าเราเป็นคนในความดูแลของเขา แม้เขาจะไม่เข้าใจและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่เขาก็มีน้ำใจต่อนักท่องเที่ยวอย่างเรา ก่อนที่เขาจะลงที่สถานีระหว่างทางเขาอวยพรให้เราเดินทางโดยสวัสดิภาพ ที่อิสตันบูลเรามีเวลาแลกเงินคืนทำให้ไม่ต้องพกเงินตุรกีติดตัวเมื่อออกจากอิสตันบูล