ตามไปรู้จัก ศิลปิน – ศิลปะประจำรัชกาลที่9
The aim of art is to represent not the outward appearance of things, but their inward significance. – Aristotle
งานนี้ต้องตามไปดู! ศิลปะประจำรัชกาลที่9 ที่คนไทยเป็นผู้สร้างสรรค์ เมื่อเราพูดถึง ศิลปะประจำรัชกาลที่9 อาจจะมีเพื่อนๆ หลายคนสงสัยว่าถ้าเป็นรัชกาลที่ 9 จะมีเอกลักษณ์ ความงดงามแบบไหน แล้วมีศิลปินท่านไหนของไทยเป็นผู้สร้างสรรค์กันน้า แล้วถ้าเราอยากจะตามไปดูความงดงามนั้น เราควรจะไปดูได้ที่ไหนกัน?
ต้องขอท้าวความนิดนึงค่ะ ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ประติมากรรมแบบดั้งเดิม ประติมากรรมระยะปรับตัว และประติมากรรมร่วมสมัย ซึ่งในรัชกาลที่ 9 จะเป็นแบบสุดท้ายค่ะ เป็นศิลปะที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเจริญแบบตะวันตก ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ในการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสาธารณะประโยชน์ นอกเหนือจากการสร้างเพื่อศาสนาอย่างเดียว ปัจจุบัน การสื่อสาร และการคมนาคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีลัทธิทางศิลปะเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และได้แพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยด้วย ประติมากรรมจึงเข้าสู่รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย เป็นการแสดงออกทางด้านการสร้างสรรค์ ที่มีอิสระ ทั้งความคิด เนื้อหาสาระ และเทคนิคการสร้างงาน สุดแต่ศิลปินจะใฝ่หา งานศิลปะที่แสดงออกมานั้น จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ใหม่ของวัฒนธรรมไทย วันนี้มัชรูมทราเวลจะพาเพื่อนๆ ไปทัวร์เองค่ะ รับรองต้องอ้าปากค้างตามกันแน่นอน!
อาจารย์เฉลิมชัย – วัดร่องขุ่น
สถานที่แรกเมื่อนึกถึงศิลปะประจำรัชกาลที่9 ก็เห็นที่จะเป็น “วัดร่องขุ่น” จังหวัดเชียงราย ศิลปะสมัยใหม่ที่ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชื่อดัง ลักษณะเด่นคือพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกแวววาววิจิตรงดงามแปลกตา บนปูนปั้นเป็นลายไทย โดยเฉพาะภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก เหนืออุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เองค่ะ ใครเห็นก็ต้องตะลึงในความสวยงามทั้งนั้น สวย เคลิ้ม มาก ค่ะ !!
เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.30 – 18.00 น.
ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – ศุกร์ 8.00 – 17.30 น. ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 8.00 – 18.00 น.
ระดับความน่าไป : ✩✩✩✩✩
วิธีการเดินทาง :
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
ถนนสายเชียงราย – กรุงเทพฯ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ วัดร่องขุ่นจะอยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงราย13ก.ม ตรงหลัก ก.ม ที่ 816 ถนนพลหลโยธิน (หมายเลข 1/A2 ) เลี้ยวเข้าไปประมาณ 100 เมตร จะมีป้ายบอกเป็นระยะๆ
2. โดยรถสาธารณะ
สามารถขึ้นรถสองแถวสีน้ำเงินรถประจำทางสายที่ผ่านวัดร่องขุ่น ได้ที่สถานีขนส่งเชียงรายเก่า และลงปากทางเข้าวัดจากนั้นเดินเข้าไปอีกนิดนึงก็ถึง
แผนที่ :
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี – พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA
มาต่อกันที่ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA” เกิดจาก “ความหลงใหลในงานศิลปะ” ของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่แท้จริงนั้น คุณบุญชัย ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย อย่างเป็นทางการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเชิดชูเกียรติของ “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั่นเอง
จากหลักปรัชญา “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” ซึ่ง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้วางรากฐานเพิ่มพูนทักษะทางศิลปะให้บรรดาลูกศิษย์ ผสานความเชื่อ ความศรัทธาแบบดั้งเดิม เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไว้อย่างลงตัว สะท้อนทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและความเป็นอารยะของชนชาติไทย ภายในงานจะประกอบไปด้วยผลงานศิลปินชั้นครูหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นผลงาน ศิลปะประจำรัชกาลที่9 ที่เพื่อนๆ ต้องมาเดินดูให้ได้แล้วล่ะค่ะ
เวลา เปิด-ปิด : เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
ระดับความน่าไป : ✩✩✩✩
วิธีการเดินทาง อยู่ตรงวิภาวดีรังสิต เลยแยกงามวงศ์วานเล็กน้อย อยู่ด้านซ้ายมือ เยื้องม.เกษตร
แผนที่ :
8 ศิลปินดัง – หนังสือพระมหาชนก
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว มัชรูมทราเวลก็อยากจะแนะนำเพื่อนที่ชอบเก็บสะสมหนังสือค่ะ หนังสือที่เป็น ศิลปะประจำรัชกาลที่9 เลยก็คือ “หนังสือพระมหาชนก, ๒๕๓๙” เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมงานจิตรกรรมที่เรียกว่างาน ศิลปะประจำรัชกาลที่9 จัดพิมพ์โดยบริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) มีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง 8 คน คือ จินตนา เปี่ยมศิริ, ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ธีระวัฒน์ คะนะมะ, เนติกร ชินโย และ “พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน, ๒๕๔๒” ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้จัดพิมพ์ พระมหาชนก เป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์เป็น ฉบับอักษรเบรลล์ เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย ซึ่งพระมหาชนกฉบับการ์ตูนนี้ผู้เขียนการ์ตูนประกอบ คือ “ชัย ราชวัตร” ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชดำริในการให้ใช้ลายเส้นแบบไทยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทยนั่นเองค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับ ศิลปะประจำรัชกาลที่9 ซึ่งศิลปะในรัชกาลนี้ก็จะมีเอกลักษณ์สำคัญคือคือคงความเป็นไทยดั้งเดิมแต่ใช้เทคนิคอย่างฝรั่ง (อ้างอิงจาก หนังสือและภาพถ่าย “รัตนะแห่งจิตรกรรม”) หรือจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะไทยร่วมสมัย ตามยุคสมัยที่ก้าวหน้าในโลกปัจจุบันนั่นเอง
ที่มาข้อมูลและภาพจาก : วัดร่องขุ่น.com, หนังสือและภาพถ่าย “รัตนะแห่งจิตรกรรม” , khaosod.co.th, mthai.com, paiduaykan.com, manager.co.th, vcharkarn.com, kanchanapisek.or.th