Guest ของ มัชรูมทราเวล วันนี้ เป็นชายหนุ่มที่บอกกับมัชรูมทราเวลว่า ตัวเค้าไม่ใช่นักเขียน แต่กลับเขียนเรื่องราวของ รถไฟสายอุตราวิถี อย่างบทความชิ้นนี้ได้อย่างละเอียดลออ และเข้าใจง่ายสุดๆ และสำหรับนักท่องเที่ยวคนไทยคนไหนที่อยากลองนั่งรถไฟขบวนพิเศษนี้ดูบ้าง และอยากรู้ว่าภายในรถไฟจะเป็นอย่างไร จะหรูหราหรือดูดีแค่ไหน ต้องติดตามรีวิวนี้อย่างใกล้ชิดค่ะ
Review รถไฟสายอุตราวิถี เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ
สำหรับรีวิวชุดนี้ผมจะเขียนถึงเฉพาะส่วนที่ทราบข้อมูล การใช้งานจริง ส่วนที่ได้เห็นและได้ใช้งานเท่านั้น และเป็น คหสต. ทั้งหมด ส่วนที่ไม่ได้แวะไปดูหรือไม่ได้ใช้งานเช่นตู้นอนชั้น 1 จะไม่พูดถึงนะครับ โดยรายละเอียดของขบวนรถผมจะลงคร่าวๆ นะครับ ไม่ได้ลงลึกเพราะเห็นมีหลายท่านได้เขียนไว้บ้างแล้ว
ดังนั้นตรงไหนผิดพลาดไป พี่ๆ น้องๆ เพิ่มเติมและทักท้วงมาได้นะครับ ซึ่งนี่จะเป็นการเดินทางเที่ยวเดียว รถไฟสายอุตราวิถี เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ขบวนที่ 10 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 ครับ
“อุตราวิถี” นามพระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานให้แก่รถไฟสายเหนือขบวนนี้ และยังมีอีก 3 ขบวนที่ได้พระราชทานไว้คือ
- เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ-อุบลราชธานี) พระราชทานชื่อว่า “อีสานวัตนา”
- เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ – หนองคาย) พระราชทานชื่อว่า “อีสานมรรคา”
- เส้นทางสายใต้ (กรุงเทพ-หาดใหญ่) พระราชทานชื่อว่า “ทักษิณารัถย์”
ขบวนรถไฟชุดใหม่นี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อรถโดยสารทั้งหมด 115 คัน ผลิตที่โรงงาน บริษัท ฉางชุน เรลเวย์วีฮิเคิลส์ จำกัด โรงงานเดียวกับที่ผลิตรถไฟฟ้า BTS รุ่น 2 ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ รถโดยสารทั้ง 115 คันนี้สั่งผลิตตาม Spec ที่กำหนดไว้ไม่ใช่รถสำเร็จรูป และที่สำคัญนี่คือรถโดยสารใหม่ “มือ 1” ของใหม่ป้ายแดง ไม่ใช่ “มือ 2” แบบ JR West ที่เราเคยได้มานะครับ
และเป็นที่ทราบกันดีว่ารถไฟสายเหนือนั้นมีด่วนพิเศษที่เป็น Signature อยู่แล้วเดิมทีมาร่วมๆ เกือบ 30 ปี นั่นคือ “ด่วนพิเศษนครพิงค์” (เลขขบวน 1 ขาขึ้น และเลขขบวน 2 ขาล่อง) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นด่วนพิเศษที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานและเป็นชุดรถนอนที่ดีที่สุดที่รถไฟไทยมีอยู่
แต่เมื่อกาลเวลาแปรเปลี่ยน ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การรถไฟได้นำรถไฟชุดใหม่นี้มาทดแทนของเดิมที่มีอยู่ จึงทำให้ “ด่วนพิเศษนครพิงค์” ยุติการทำงานรับใช้ประชาชนลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เที่ยวสุดท้ายที่สถานีกรุงเทพฯ และได้ส่งต่อให้กับ “ด่วนพิเศษอุตราวิถี” (เลขขบวน 9 ขาขึ้น และเลขขบวน 10 ขาล่อง) ทำหน้าที่ต่อในวันเดียวกัน
— เริ่มเดินทาง —
รถไฟเที่ยวนี้ถือเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ของขาล่องครับ (ด่วนอุตราวิถี ขบวน 10) ส่วนขาขึ้นนั้นไม่ได้เจิมมานะจ๊ะ ที่สถานีเชียงใหม่ได้จัดชุดขบวนแบบพหุไว้แล้ว (พ่วง 2 หัว) เพื่อใช้ในการลากจูงขึ้นยอดขุนตาน และจะปลดหัวที่ทำพหุออกเมื่อถึงยอดขุนตาน
มาดูในส่วนของริ้วขบวนของรถไฟชุดใหม่นี้กันครับ ใน 1 ริ้วขบวนจะประกอบไปด้วย
- รถไฟฟ้ากำลัง (PowerCar) จำนวน 1 ตู้
- รถขายอาหาร จำนวน 1 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 9 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 สำหรับผู้พิการ จำนวน 1 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 1 ตู้
เมื่อมีรถไฟฟ้ากำลังแล้ว ดังนั้นตู้โดยสารอื่นๆ จึงไม่มีเครื่องยนต์ใต้ตู้แบบรถรุ่นเก่าอีกต่อไป เมื่อแต่ละตู้ไม่ต้องมีเครื่องยนต์เพื่อปั่นกระแสไฟแยก จึงทำให้เสียงบริเวณชานชลาเงียบมาก ไม่ต้องเหม็นควันเวลาเดินผ่าน บนรถก็จะเงียบและเงียบมากกกกกกก เวลาเดินขบวนรถก็จะมีแต่เสียงรางเท่านั้น ถ้าช่วงที่รางดีรางใหม่ก็จะเงียบไปเลยไม่มีเสียงตึกๆ เวลาผ่านราง
ทั้งนี้รถไฟฟ้ากำลังจะอยู่ตู้แรกเมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ และอยู่ตู้สุดท้ายเมื่อเดินทางออกจากเชียงใหม่ ภายในจะมีเครื่องยนต์สำหรับปั่นกระแสไฟเพื่อจ่ายไฟให้ทั้งขบวน และเป็นที่ทำงานของบรรดาพนักงานรถไฟต่างๆ เช่น พรร. (ยกเว้นพนักงานรถนอนที่จะอยู่ประจำตู้) ซึ่งการใช้ PowerCar นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการประหยัดพลังงานอีกด้วยครับ
รถชุดใหม่นี้ใช้ระบบแคร่ล้อแบบใหม่ และระบบดิสเบรก (Disk Brake System) เข้ามาแทนการห้ามล้อเดิมที่ใช้แท่งห้ามล้อระบบลมอัด ดังนั้นการเบรกก็จะนิ่มนวลขึ้น และไม่เปลืองแท่งห้ามล้อ ในภาพจะไม่เห็นจานดิสนะครับ เพราะอยู่ด้านในผมลืมถ่ายมาขออภัย แต่ๆๆๆๆ ไอ้ระบบดิสนี่มันต้องใช้ปั๊มแบบมอเตอร์ที่อยู่ใต้ตู้ เวลาขบวนแล่นไปเรื่อยๆ ก็จะมีเสียงของมอเตอร์ดังมาเป็นระยะๆ ซึ่งก็พอทนได้ อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นเฉพาะตู้รึเปล่าเพราะไม่ได้ไปลองตู้อื่น (เรื่องนี้ไม่แน่ใจอาจจะต้องรอผู้รู้มาคอนเฟิร์ม)
อีก 1 เรื่องที่เป็นปัญหาเมื่อพูดถึงเรื่องของเสียง คือด้วยความที่รถมันเงียบมากๆ เพราะไม่มีเครื่องยนต์อยู่ใต้ท้องตู้ ทำให้ช่วงที่เข้าโค้งแล้วใบบังล้อสีกับรางมันดัง อันนี้ถ้าใครนั่งช่วงที่ตรงล้ออาจจะรำคาญได้ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นทางเลี้ยวมากๆ ใครนึกไม่ออกว่าเสียงแบบไหน ให้นึกถึงเวลา BTS ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดังแบบนั้นเลยครับท่าน
อีกหนึ่งเคล็ดลับความนิ่มของขบวนใหม่นี้คือ ระบบต่อพ่วงตู้โดยสารแบบใหม่ เป็นระบบต่อพ่วงแบบปิด แบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS (เค้าผลิตโรงงานเดียวกันนะครับ) ตรงนี้แหละทำให้การเบรก การออกตัว ไม่เกิดการกระชากแบบรถรุ่นทั่วๆไปของการรถไฟที่ใช้ข้อต่อแบบขอพ่วง ซึ่งดีและดีมากๆ
ด้านข้างขบวนรถทุกตู้โดยสารจะมีป้ายแสดงรายละเอียดแบบ Digital อยู่ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สลับกันประมาณ 5 วินาที รายละเอียดดังนี้ (จากบนลงล่าง)
- หมายเลขขบวน
- หมายเลขตู้
- สถานีต้นทาง
- สถานีปลายทางทั้งหมดจะถูกจัดเป็นชุดแบบนี้ไปตลอดไม่แยกจากกันนนนน
ทางเดินขึ้นตู้กว้างขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ตัวบันไดตัวนี้สามารถปรับได้ 2 แบบคือ แบบชานชลาต่ำ และชานชลาสูงเสมอระดับ ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นยังไงดูภาพด้านล่าง
เป็นแบบนี้ครับ คือจะราบเรียบไปเลยไม่ต้องก้าวขึ้นลง เวลาพนักงานปิดประตูตัวบันไดจะยกเก็บขึ้นมาเป็นแบบนี้โดยอัตโนมัติเลยครับ และเวลาเปิดประตูก็จะเลื่อนระดับลงไปเอง เจ๋งเน๊อะ (เสียดายไม่ได้ถ่ายคลิป)
ทีนี้ต้องมีคนสงสัยว่าแล้วถ้าเปิด-ปิดประตูแบบเสมอระดับจะขึ้น-ลง หรือเข้า-ออกกันยังไง แล้วใช้กับชานชลาที่ไหน บ้านเราชานชลาต่ำทั้งนั้น คำตอบคือเค้าออกแบบมาให้รองรับกับชานชลาแบบใหม่ที่กำลังก่อสร้างในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เส้นที่สร้างเลียบถนนวิภาวดีไปนั่นแหละครับ แน่นอนว่าเจ้าขบวนนี้มันก็จะไปวิ่งข้างบนนั้นด้วย…….
และนี่คือปุ่มเปิด-ปิดประตูแบบสัมผัส จะเรียกว่ากึ่งอัตโนมัติก็ได้ เพราะว่าเวลารถจอดตามสถานีพนักงานประจำตู้ต้องคอยมาเปิด-ปิดเอง ไม่ได้เปิด-ปิดจาก พขร. ครับ สังเกตครับว่าเลือกได้ ว่าจะเปิดแบบไหน ถ้า ณ ตอนนี้ก็เปิดแบบชานชลาต่ำไปก่อนน้อออ และประตูนี้จะไม่สามารถเปิดได้หากรถใช้ความเร็วตั้งแต่ 5km/h ขึ้นไปครับ
— ภายใน –
ว่ากันว่าขบวนรถชุดใหม่นี้ออกแบบและสร้างมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ เริ่มด้วยทางเดินที่กว้างกว่าในตู้รถแบบเดิมมากกกกกกกกกก เห็นแล้วน่าเดินจริงๆ ดูมีความปลอดภัยเมื่อเดินผ่านระหว่างตู้โดยสาร ซึ่งทางเดินนี้ก็สามารถเข็นรถวีลแชร์ผ่านไปได้ รวมทั้งรถขายอาหารก็สามารถเข็นผ่านไปได้แบบสบายๆ เลย เพราะด้วยการพ่วงแบบระบบปิดทำให้จุดเชื่อมต่อระหว่างตู้แทบหายไปเลยครับ สมูทมากกก
ระหว่างตู้โดยสารแต่ละตู้มีประตูกั้นทุกตู้ แต่ประตูจะไม่ใช่ระบบเซ็นเซอร์เหนือศีรษะนะครับ ต้องสัมผัสเอาซึ่งส่วนตัวผมว่าดีครับ ไม่งั้นคนที่นอนใกล้ประตูขยับนิดขยับหน่อยเดี๋ยวก็เปิด เดี๋ยวก็ปิด ไม่ได้นอนแน่ๆ ครับ
ภาพนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นครับว่าทางเดินระหว่างตู้แทบจะราบเรียบไปเลย ไม่มีรอยต่อที่ทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายๆ ครับ ใครเคยนั่งรถนอนแบบเก่าน่าจะนึกออกเวลาเดินข้ามตู้ไป ช่วงรอยต่อระหว่างตู้ถือว่าอันตรายมากครับ แต่ตู้โดยสารรุ่นใหม่นี้ไม่มีปัญหานั้นแล้วครับสบายใจ
ประตูระบบสัมผัส สัมผัสได้ทั้งผู้พิการทางสายตา และผู้ที่มองเห็นปกติครับ เพราะมีอักษรเบลให้ด้วย แตะปุ๊บเปิดดดดด แต่ความเร็วการเปิดไม่มากนะ แตะแล้วรอนิสนึง ถ้าเดินเร็วมีชนได้เลย ผมเรียกชื่อประตูนี้เล่นๆ ว่า “Touch On” 5555+
นี่ครับของใหม่ที่น่านำเสนออย่างยิ่ง ทุกตู้จะมีจอแสดงสถานะต่างๆ ตู้ละ 4 จอ บนประตูทางออกตู้ด้านละ 1 จอ และกลางตู้อีก 2 จอ(หันหลังชนกัน) ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายตอนท้ายๆ ว่ามีอะไรบ้าง แต่หลายๆ คนอ่านดูก็น่าจะดูออกครับว่าบอกอะไรบ้าง แต่ที่ผมชอบคือจอที่แสดงผลหลังจากนี้แล้วครับ ติดตามกันนะครับ
ด้านบนมีกล้องวงจรปิด CCTV ระบบปิด เอาไว้ป้องกันเหตุร้ายต่างๆ นานา พร้อมทั้งลำโพงเสียงตามสายที่จะคอยประกาศ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งเข้าใจว่าพนักงานรถไฟน่าจะยังไม่คุ้นชินกับงานด้านนี้เลย ฟังดูพูดไม่ค่อยคล่อง อันนี้ต้องให้เวลากันหน่อยเข้าใจได้ครับ
พี่ที่เป็น พรร. (พนักงานรักษารถ) เค้าจะพูดเวลาเราใกล้ถึงสถานีปลายทางเช่น ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางซื่อ กรุงเทพฯ ให้เราเตรียมตัว และขอบคุณที่เลือกใช้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย ประมาณนี้ครับ แต่ยังมีแต่เวอร์ชั่นภาษาไทยนะครับสำหรับเสียงตามสายนี้
ทั้งนี้เสียงปั๊มลมดังจริงๆ ครับ ผมขึ้นสานอีสานวัตนาด่วนพิเศษที่ 23 มันดังมากจริงๆ ยิ่งถ้ารถจอดแล้วเงียบๆ ด้วยจะดังจนรำคาญมากเลย ผมอยู่ตู้ที่ 2 ติดกับตู้ปั่นไฟ ตอนแรกคิดว่าตู้ปั่นไฟเสียงดัง ถามพนักงาน พนักงานบอกว่าเสียงปั๊ม
— ส่วนของที่นั่ง –
แน่นอนครับว่าเมื่อเป็นรถนอน ใน 1 บล็อกก็จะประกอบไปด้วย 2 ที่นั่งหันหน้าชนกัน คือเตียงล่าง (เลขคู่) และเตียงบน (เลขคี่) เบาะนั่งเป็นเบาะฟองน้ำแข็งกำลังดีไม่เมื่อยก้น หุ้มด้วยกำมะหยี่สีแดงที่พร้อมจะเปื้อนได้ทุกเมื่อ ซึ่งผมได้มีโอกาสคุยกับพนักงานรถไฟมาเล็กน้อยเค้าบอกมาว่า “เปลี่ยนใหม่” แน่นอนนนนนน
โซนที่นั่งพื้นที่จะแคบกว่าตู้ของด่วนพิเศษนครพิงค์เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ดูแคบอะไรเลย สาเหตุที่แคบเพราะเค้าเน้นให้ทางเดินกว้าง อย่างที่บอกเลยว่าเป็นตู้รถที่ทำมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ
สำหรับพนักพิงค่อนข้างตรง นั่งนานๆ มีเมื่อยกันได้ แต่ด้วยความที่เป็นรถนอน ตรงนี้จึงไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะนั่งเต็มที่ 1-2 ชั่วโมงก็ปูเตียงแล้วครับ และก็จะได้นั่งอีกนิดหน่อยก็ก่อนถึงปลายทาง
ส่วนของหน้าต่างกว้างสะใจ กระจกยังใสไม่มีตราของการรถไฟอยู่ตรงกลางแล้ว พร้อมม่านเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเป็นสีครีม มีโต๊ะเล็ก ที่วางแก้ว พวกนี้คล้ายๆ เดิมปรับปรุงนิดหน่อยให้ดูดีทันสมัยขึ้น แต่เดี๋ยวจะรีวิวอันไหนที่มีเพิ่มเติมและต่างออกไปให้ด้านล่างครับ
ก่อนจะไปดูสิ่งที่เพิ่มเติมมา มาดูความพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ของเที่ยวนี้กันหน่อยครับ ด้วยความที่เป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ ทางการรถไฟเลยมีของชำร่วยให้มา 2 อย่างคือ การ์ดเที่ยวปฐมฤกษ์ กับกระติกน้ำของการรถไฟครับ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟเดินมาคล้องดอกมะลิให้ผู้โดยสารทุกคนในขบวนนี้ครับผม ส่วนน้ำเปล่า 2 ขวดด้านหลังนั่นจะมีแจกฟรีตลอดไปครับผม
ว่าด้วยเรื่องโต๊ะ (ขออภัยภาพใช้งานจริงอาจจะดูไม่งาม 555+) ตู้แบบใหม่จะเล็กกว่า มากกกก เอาไว้พอให้วางของได้เล็กน้อย เป็นแบบพับลงระบบโช้คซับแรง (ซึ่งต้องออกแรงกดและปลดล็อกมากก) ไม่ได้เป็นแบบโต๊ะยาวๆ และสอดเก็บใต้ที่นั่งเหมือนตู้รุ่นเก่าของด่วนพิเศษนครพิงค์ ถ้ามากันเป็นคู่ไม่เท่าไหร่ครับใช้ด้วยกันได้ ถ้าไม่ได้มาเป็นคู่อาจจะเขินหน่อย ก็ขอแบ่งๆ กันใช้ไปครับ
นี่ๆๆๆๆๆๆ นี่เลยยยยยยย ปลั๊กไฟ AC220V พร้อมไฟอ่านหนังสือสำหรับทุกที่นอน ย้ำ!!! ว่าทุกที่นอนไม่ใช่ทุกที่นั่ง (ถ้านึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนย้อนกับไปดูรูปด้านบนนะครับ) เข้าใจง่ายๆ คือเมื่อปรับเป็นแบบที่นั่งแล้ว ปลั๊กไฟจะอยู่ฝั่งของที่นั่งเลขคู่ (เตียงล่าง) ฝั่งที่เป็นที่นั่งเลขคี่ (เตียงบน) จะไม่มี แต่พอปรับเป็นเตียงแล้ว เตียงบนก็จะมีปลั๊กไฟและไฟอ่านหนังสือแบบนี้ให้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องน้อยใจไปนะเธออ…
เช่นเคย ถ้ามาสองคนก็ดีไปไม่เขิน เธอเสียบปลั๊กให้เราหน่อยสิ แต่ถ้ามาคนเดียวแล้วซื้อเตียงบนแต่อยากใช้ปลั๊กก็เขินหน่อยนะ 555+ เมื่อลองเสียบชาร์จแบตดูแล้วผลที่ได้ก็คือไฟเข้าช้ามากกกกกกกก อันนี้น่าจะเป็นเรื่องของกระแสที่จ่ายมาต่ำเลยทำให้ช้า แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเค้าให้เราใช้แบบชั่วคราวไม่ใช่ให้ใช้เป็นไฟบ้านเนาะ เพราะงั้นอย่าซีเรียส
ไฟอ่านหนังสือกดได้ 3 ระดับคือ ปิด ไฟอ่อน และไฟสว่างมาก แค่นี้เลย ตัวโคมปรับหมุนได้ตามต้องการแสงสีขาวจะออกแยงตาหน่อย เดี๋ยวรูปหลังๆ จะมีภาพตอนใช้งานให้ดู…..
— สำหรับผู้พิการ และผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ –
อย่างที่บอกไปครับว่ารถไฟขบวนนี้ทำมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ ดังนั้นในบวนนี้จะมี 1 ตู้เป็นตู้สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ (คนทั่วไปก็สามารถซื้อตั๋วตู้นี้ได้ปกติครับ) โดยในตู้นี้จะพิเศษตรงที่ตรงประตูขึ้นจะมีลิฟท์สำหรับยกรถวีลแชร์ มีที่สำหรับจอดเก็บรถวีลแชร์ และมีรถวีลแชร์สำรองให้ด้วย พร้อมทั้งห้องน้ำที่กว้างเป็นพิเศษเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะ (อันนี้ก็ไม่ได้ถ่ายมากราบขออภัยอีกครั้ง) ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและดีมากจริงๆ ครับ
แวะมาโซนของผู้พิการกันอีกโซนครับ สำหรับห้องเสบียงของรถชุดใหม่นี้ก็จะมีโซนให้สำหรับผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ด้วยครับ ซึ่งผู้พิการสามารถเข็นรถวีลแชร์มาจอด ล็อกกับราวไว้แลัวนั่งรับประทานอาหารนั่งชมวิวได้เหมือนกันครับ แต่ถ้าไม่มีผู้พิการมาใช้พื้นที่บริเวณนี้ใครจะมาชมวิวก็ได้นะไม่ว่ากันนะครับ
— รถขายอาหาร (ตู้เสบียง) –
มาทัศนาตู้เสบียงกันต่อครับ โดยรวมดูเลิศดี จัดแต่งดีไซน์สวยงามน่านั่ง มีทั้งหมด 8 โต๊ะด้วยกัน เป็นห้องปรับอากาศ ด้านบนมีจอแสดงผลเหมือนในตู้โดยสาร แต่จะมี 2 จอที่เหนือประตูและหน้าบาร์ครับ แต่ๆๆๆๆๆ ตู้เสบียงของรถชุดใหม่นี้จะเป็นครัวแบบ “อุ่นร้อน” ไม่ใช่ “ครัวร้อน” นะครับ
เพราะฉะนั้นใครหวังว่าจะได้กินอาหารเหมือนด่วนพิเศษนครพิงค์ จบไปครับ ผมก็เช่นกันเศร้าเลยยยยย ว่าแล้วก็สั่งอาหารกันไปเอาที่อยากกิน 1 อย่างและที่เค้าแนะนำสัก 1 อย่างที่เหลือก็ตามใจฉันจะเป็นอะไรติดตามต่อ……….
ในส่วนของที่นั่ง 1 โต๊ะ นั่งได้เต็มที่ประมาณ 4 คนแน่นครับ มากกว่านี้และดูไม่ไหว ดูจากภาพเหมือนจะกว้างแต่ก็ไม่ได้กว้างมากเท่าไหร่ เบาะเป็นเบาะกำมะหยี่พร้อมจะเปื้อนได้ทุกเมื่อเช่นกันกับตู้นอน แต่เป็นสีเขียวครับ
บริเวณเคาน์เตอร์บาร์ก็จะมีอาหาร น้ำดื่ม ขนม ฯลฯ ขาย ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่มีขายนะจ๊ะ พนักงานดูเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อย น่าจะชุดใหม่เลยไม่ใช่ชุดของนครพิงค์ ซึ่งก็ทำให้ลุคของตู้เสบียงดูเปลี่ยนไปด้วยครับ ส่วนอาหารมีอะไรและราคาเท่าไหร่บ้าง ว่าด้วยเรื่องราคาถือว่าไม่แรงมากนะครับ แทบจะเป็นราคาปกติด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้ซื้อเพราะซื้อด้านล่างมาแล้ววววว
และก่อนที่อาหารจะมาถึง พลาดไม่ได้กับลูกเล่นใหม่ที่ต้องลองนั่นก็คือออ………..
แท๊นแทนนนนนน SRT WiFi เจ๋งมั้ยล่ะท่านผู้ชม ถ้าผมดูข้อมูลมาไม่ผิดนี่คือรถไฟของไทยขบวนแรกที่มี Free WiFi ครับ แต่ๆๆๆ (อีกแล้ว) มีเฉพาะตู้เสบียงเท่านั้น ตู้อื่นๆ ไม่มีจ้าาา สัญญาณแรง แต่โหลด Data ไม่ขึ้นเลย เข้า Google ยังไม่ได้เลยครับ ถ้าอยู่ในโซนป่าเขานี่เลิกคุย ดับสนิท มีสัญญาณแต่ใช้การไม่ได้ เท่าที่สืบทราบมาสัญญาณนี้ดึงมาจากค่ายแมว แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ตอนนี้ทุกอย่างน่าจะยังไม่เสถียร รอคอยการพัฒนาและปรับปรุงกันต่อไป
ส่วนสัญญาณโทรศัพท์ปกติโซนเหนือก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้วครับเพราะวิ่งทางป่าเขา แต่ขบวนนี้ไม่รู้ผมคิดไปเองรึเปล่าถ้าไม่ได้เข้าใกล้ย่านสถานีสัญญาณคือหายสนิท ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับที่ว่ารถไฟขบวนนี้ใช้การนำทางและรายงานแสดงผลด้วยระบบ GPS รึเปล่า ซึ่งน่าจะมีการป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอก ทำให้ระบบสัญญาณโทรศัพท์หายไปด้วย
มาแล้วครับอาหารอุ่นร้อนที่รอคอย อาหารมื้อแรกบนรถไฟขบวนนี้ สั่งมาเทสทั้งหมด 4 อย่างอันได้แก่
- ข้าวผัดเขียวหวานไก่ไข่ดาว 55 บาท
- ข้าวหมูทอดซอสกระเทียม 59 บาท
- ขนมจีบกุ้ง (5 ลูก) 30 บาท
- นมชมพูเย็น 45 บาท
อาหารอุ่นร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าข้าวกล่องแบบเวฟนั้นเป็นของบริษัท CPRAM (บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด หรือ ซีพีแรม) ครับ เมื่อลองกินแล้วส่วนตัวไม่ค่อยเท่าไหร่ รสชาติจะไม่เหมือนกันข้าวกล่องในเซเว่นครับ แต่โดยรวมก็พอกินได้ แต่ถ้าราคานี้ผมว่ายังไม่ผ่านครับ ส่วนขนมจีบโอเคครับพอไปได้ นมเย็นนี่ผ่านครับเข้มข้นดี
— รถเข็นขายอาหาร –
ข้ามมาดูที่รถเข็นขายอาหารกันบ้างครับ นี่ครับ เค้าก็จะเข็นมาเป็นระยะๆ แต่ไม่บ่อยเท่าไหร่ อยากกินอะไรซื้อครับ แพงกว่าราคาป้าย 5 บาท 10 บาทบ้างก็ว่ากันไป หรือถ้าคุณจะสั่งพวกข้าวกล่องก็สั่งเอาได้เลยครับตรงนี้ จะมีแบบที่เค้าอุ่นมาให้แล้วบางอย่าง ถ้าถูกใจอยากกินก็ซื้อตรงนี้เลย หรือถ้าอันไหนไม่มีเค้าก็จะวิทยุไปที่ตู้เสบียงแล้วพนักงานจากตู้เสบียงก็จะเอามาเสิร์ฟให้ครับ เจ๋งดีครับวิธีนี้จะได้ไม่ต้องจดเดินไปเดินมา รอกันไปยาวๆ อีก
บนรถขายอาหารก็ประมาณนี้เลยครับ อย่างที่บอกไปถ้าตรงนี้ไม่มีแล้วขี้เกียจเดินก็บอกพนักงานได้ครับเค้าจัดให้ พอเห็นแบบนี้แล้วผมรู้สึกนะว่าภาพของรถไฟทางไกลเราดีขึ้นเยอะเลย ดูระบบแบบแผนดี ที่เหลือก็ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันไปครับ
— ห้องน้ำ —
มาถึงโซนที่หลายๆ คนน่าจะอยากเห็น นั่นคือห้องน้ำ พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าสกปรกได้ง่ายที่สุดและเป็นที่ที่หลายๆคนไม่ชอบเอามากๆ สำหรับการโดยสารของรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นความสกปรก อุปกรณ์ชำรุด น้ำไม่สะอาด ส้วมระบบเปิด ทั้งหมดนี้ไม่มีในขบวนนี้ครับ ส่วนนึงเพราะว่านี่คือของใหม่ ความสะอาดมีแน่นอนครับ
ส่วนนี้คือพื้นที่ที่เป็นอ่างล้างหน้ามี 2 อย่างต่อ 1 ตู้ครับ มีกระดาษทิชชู่ สบู่ล้างมือ และถังขยะด้านล่างครบครันดีครับ ภาพรวมของตรงนี้คล้ายตู้เดิมครับ แต่อันนี้ใหม่กว่า และน้ำสะอาด (แต่คลอลีนแอบบแรงนิดนึง)
เหลือบมาข้างบนก็มีกระจกบานใหญ่ใสกิ๊ก และด้านขวาก็จะมีปุ่ม Emergency ฉุกเฉินสำหรับเรียกพนักงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินครับ ในห้องสุขาก็มีนะครับ เหตุด่วนเหตุร้ายก็กดเอาได้เลยครับ
มาดูที่ห้องสุขาแบบถ่ายหนักหรือห้องขรี้กันบ้าง ไม่กว้างครับ พอทำธุระหนักได้ไม่อึดอัดเท่าไหร่ มีสายชำระให้แรงดันน้ำดีครับ และที่สำคัญ เป็นส้วมระบบปิดสุญญากาศ ทำธุระเสร็จกดปุ่มเขียว น้ำมาาาา ดูดทุกสิ่งอย่างลงไปเลย อันนี้คล้ายๆเครื่องบินแหละ
ถามว่าต่างจากเดิมยังไงเผื่อใครที่ยังไม่รู้ แบบเดิมที่การรถไฟมีอยู่ทั้งหมดไม่รวม JR ที่ได้มา คือระบบเปิดทั้งหมดครับ ปล่อยไหนลงนั่น เค้าถึง “ห้ามใช้สุขาเมื่อรถจอดชานชลา” ไม่งั้นก็เหลืองเต็มรางกันไป แต่พอเป็นระบบปิดจะเข้าเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เลยยยยยย
ในห้องเดียวกันก็จะมีอ่างล้างมือ สบู่ และกระดาษทิชชู่ให้พร้อม แต่แปลกใจ ของใหม่น้ำสนิมลงแล้ว ถือว่าซวยไปครับที่มาเป็นตอนนี้เพราะผมกำลังทำรีวิวนี้อยู่ (จริงๆ ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับของใหม่) เรื่องนี้แจ้งพนักงานไปแล้วและหวังว่าจะได้รับการแก้ไขกันไป ไม่ทราบว่าพี่น้องสายอีสานพอเจอปัญหานี้บ้างหรือไม่ครับ
โดยส่วนของห้องถ่ายหนักจะมี 2 ห้องครับต่อ 1 ตู้ ไม่ต้องแย่งกันครับสบายๆ แต่ผมพูดเลยว่าเรื่องน้ำสนิมเนี่ย ทำให้หลายคนที่คิดว่าเนี่ยคือรถไฟมือ 2 ยิ่งเชื่อหนักเลยครับว่าเนี่ยของเก่าไม่ใช่ของใหม่ รู้แบบนี้แล้วเศร้าใจกันเลยทีเดียว วอนการรถไฟนะครับ ปัญหาเล็กๆ เหล่านี้ไม่ควรมองข้ามหากเราจะพัฒนา เพราะการพัฒนาที่จะประสบผลสำเร็จได้ผมคิดว่าต้องเริ่มมาจากการเอาใจใส่สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ด้วยครับ
— สุขาชาย –
มาถึงห้องปัสสาวะชาย ง่ายๆ ครับเป็นเหมือนห้องถ่ายหนักแหละแต่แคบกว่า เป็นโถระบบอัตโนมัติเดินเข้าไปน้ำก็ไหล น้ำเต็มดูดลงไปทันที่เช่นกัน ห้องนี้ผมว่ามันค่อนข้างแคบไปนะครับ เข้าไปทีถ้าคนอ้วนนี่ลำบากแน่นอนครับ
หันมาอีกด้านก็เหมือนกับห้องถ่ายหนักทุกประการ อ่างล้างมือ สบู่ และกระดาษทิชชู่ให้พร้อม รวมทั้งน้ำสนิมนั่นด้วยยยยยยยยย T”T
เรื่องของประตู ตัวล็อกประตูห้องน้ำครับ อันนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างมีปัญหานิดหน่อย คือมันล็อกไม่ค่อยตรงรู เวลาล็อกเหมือนล็อกไม่ได้ต้องขยับหน่อย ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเหมือนกันหมดเพราะหลายครั้งที่ผมจะเข้าห้องน้ำแล้วมีคนอยู่ข้างในโดยที่ไม่ล็อกประตู ผมเดานะ (ย้ำว่าเดา) คือหลายๆ คนเข้าไปแล้วอาจจะคิดว่าล็อกอัตโนมัติ หรือว่าบิดครึ่งนึงคือล็อกแล้ว แต่พอเราเห็นว่าห้องนี้ไม่ล็อก จะเปิดไปมีคนอยู่ข้างในซะงั้น
ซึ่งบางคนเข้าไปแล้วไม่ล็อกก็จะขึ้นสีเขียวหน้าคันบิด แต่ถ้าล็อกแล้วหน้าประตูก็จะเป็นแบบนี้ขึ้นสีแดง จริงๆ เค้าน่าจะทำเหมือนเครื่องบินนะ คือถ้าไม่ล็อกไฟในห้องจะไม่ติด แต่ของรถไฟขบวนนี้จะมีไฟอ่อนๆ (ซึ่งไม่อ่อนเลย) แล้วพอล็อกได้ก็จะสว่างขึ้น (ไม่ได้สว่างขึ้นมากเลย)
ชัดเจนสุดต้องบนประตูเลยครับ จะมีบอกว่าห้องน้ำไม่ว่างนะจ๊ะ เรื่องห้องน้ำก็จบไป สำหรับผมผมยังโอเคอยู่ถ้าไม่พูดถึงเรื่องความแคบและยังงงๆ กับการล็อกอยู่บ้าง คราวนี้เรื่องความสะอาด อันด้วยความที่ว่านี่ของใหม่ตามที่ผมได้ย้ำไปแล้ว ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนคาดหวังมากว่าจากนี้ต่อไปในภายภาคหน้า ความสะอาดจะคงอยู่แบบนี้เหมือนตอนรถใหม่ไปตลอด ผมเห็นด้วยและก็อยากให้เป็นแบบนั้นครับ
แต่ทั้งนี้เราทุกคนที่เป็นผู้โดยสารต้องช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยครับ ไม่ต้องถึงขนาดคิดว่าเป็นบ้านตัวเองก็ได้ครับผมว่า ลองคิดประมาณว่าเราไปบ้านเพื่อนหรือบ้านคนรู้จัก เราก็คงจะรักษาความสะอาดให้เค้าด้วยบ้าง ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินแล้วจะทำอะไรก็ได้ เอาให้เปียก เอาให้เลอะ ใช้เต็มที่ไปหมดจริงมั้ยครับ
จริงอยู่ครับว่าเค้ามีพนักงานทำความสะอาดที่จะมาล้างมาทำความสะอาดตรงนี้อยู่แล้ว แต่ในขณะที่เราใช้งาน ใจเขาใจเราครับ ในขบวนในตู้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวครับ ร่วมด้วยช่วยกันคนละนิด เราจะได้ใช้ของดีได้นานขึ้นอีกสักหน่อยก็ยังดีครับ
— ช่วงปูเตียง –
กลับมาที่ตู้นอนของเรา หลังจากที่ไป On Tour ตู้เสบียง และห้องน้ำกันมาแล้ว ก็ได้เวลากลับมายังที่ตั้งของเราครับ ผมโดยสารตู้ที่ 6 ซึ่งก็ถือว่าอยู่กลางๆ ขบวนเลยก็ว่าได้ จึงไม่ค่อยไกลจากตู้เสบียงเท่าไหร่ เดินผ่านมาตู้เดียวก็ถึงเลย สังเกตดูครับ ล็อกผมนี่สุดท้ายเลยที่ปูเตียง ทัศนาจรซะนานเชียว
ตอนนี้หลายๆ คนเริ่มให้พนักงานมาปูเตียงและเริ่มเข้านอนกันไปแล้ว รถไฟออกจากเชียงใหม่ 6 โมงตรง ประมาณ 2 ทุ่มก็เริ่มปูเตียงนอนกันแล้วครับ 3-4 ทุ่มไม่ต้องพูดถึงครับเงียบมากกกกกกกก
พนักงานเริ่มจัดการปูเตียงให้ในส่วนของผมกับแฟน เป็นล็อคสุดท้ายเลยก็ว่าได้ครับ คนอื่นเค้าปิดม่านนอนกันเกือบหมดแล้ว และในขบวนก็เงียบมากเลย เวลานี้ประมาณ 3 ทุ่มได้ครับ จากการสอบถามพนักงานบอกว่ารถใหม่ปูง่ายกว่า ของใหม่อะไรก็ดูง่ายดีไปหมด
— เตียงล่าง –
อย่างที่บอกไปครับว่าเตียงของตู้ชุดใหม่นี้จะแคบกว่าตู้ชุดด่วนพิเศษนครพิงค์เล็กน้อยแต่ก็นอนได้สบายครับ เหยียดขาได้สุดของใหม่ไร้กังวลเลย โดยที่ฟูกจะเล็กกว่าเบาะเล็กน้อยครับ ทำให้มีพื้นที่ด้านในเหลือประมาณ 1 คืบ เป็นเพราะฟูกจะปูให้พอดีกับตัวโต๊ะที่พับลงมาพอดีครับ จะไม่ลอดไปด้านใต้และเต็มพื้นที่แบบด่วนพิเศษนครพิงค์ครับ เลยทำให้ที่นอนของตู้ชุดนี้ในเตียงล่างจะดูเล็กกว่าพอควร
นั่งได้หัวไม่ติด ถ้ายังไม่อยากนอนจะนั่ง 2 คนพิงเบาะหันหน้าชนกันก็ได้นะไม่เป็นไรสบายอยู่ แต่ถ้านั่งด้านเดียวกัน 2 คนไม่ไหวนะครับอึดอัดไป
ปิดม่านแล้วแสงจะประมาณนี้สลัวๆ ออกเหลืองๆ หน่อย เป็นเพราะม่านเลยครับอันนี้ต้องแก้กันด่วนเลยพนักงานรถไฟบอกมา
ไฟอ่านหนังสือที่ได้พูดไว้ตอนต้น อันนี้ส่วนตัวผมว่ามันไม่ค่อยโอเคครับ คือถ้าจะอ่านหนังสือต้องนั่งตามภาพถึงจะได้มุมของแสงที่โอเค แต่ถ้านั่งพิงเบาะมันจะแยงตาเลย อันนี้แปลกๆ ไม่ค่อยชอบครับ
— เตียงบน –
เตียงบนของตู้ใหม่นี้เจ๋งเลยครับเป็นสิ่งดีงามอีกอย่างที่ผมชอบเลยก็ว่าได้ เพราะเตียงบนของรถด่วนพิเศษนครพิงค์หรือรถนอนรุ่นเก่าที่การรถไฟมี ข้างบนจะแคบและอึดอัดมาก คือนอนแล้วมันแคบอึดอัดบอกไม่ถูก ถ้าใครไม่ชอบที่แคบก็นอนไม่ได้เลยครับ แต่รถชุดใหม่นี้กว้างและนอนสบายขึ้นมาก ความกว้างเกือบเท่าเตียงล่างเลยทีเดียวเชียว
มาดูบันไดขึ้นเตียงบน ตัวบันไดจะเป็นแบบพับเก็บได้ ทำให้ลดพื้นที่ระหว่างล็อกออกไปได้อีก ถ้าดูรูปที่ถ่ายจากเตียงล่างจะเห็นชัดเลยว่าเวลาเก็บแล้วเป็นยังไง ตัวบันไดดูเผินๆ อาจจะดูไม่แข็งแรง แต่เอาจริงๆ มันแข็งแรงมาก Max Load ได้ ประมาณ 200kg ครับตัวนี้ ผมลองขึ้นไปขย่มไม่มีโยกเลยครับสบายๆ
แต่ผมเห็นหลายๆ คนไม่กล้าเหยียบเต็มๆ บางคนเหยียบขอบล่างได้ปีนขึ้นเตียงเลย ไม่รู้ว่าก้าวไม่ถูกหรือไม่กล้าเหยียบ ตอนลงก็เป็นปัญหาพอควร เพราะมันเล็กและเล็งยาก ใครขี้เกียจหน่อยก็โดดลงเลยก็มี บางคนหมุนตัวแล้วหมุนตัวอีกกว่าจะลงได้ สงสัยต้องปีนบ่อยๆ ค่อยๆ ชินครับ
ย้อนกลับมาที่พื้นที่ของเตียงบนกัน นี่ครับกว้างจริง ผู้หญิงสูง 168 ขึ้นไปนั่ง หัวไม่ชนครับ แม้กระทั่งผมสูง 173 ก็ไม่ติดนะแค่แตะๆ ถ้าเป็นรุ่นเก่านี้ไม่ได้แน่นอนแบบนี้ เพราะหลังคามันโค้งกว่า ถ้าใครเคยนั่งน่าจะนึกออก ถือว่ารถรุ่นใหม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีมากครับ
อันนี้เวลาปิดม่าน ของจริงสว่างกว่านี้อีกนะครับ (ปิดเหมือนไม่ปิด) เหมือนเปิดไฟนอนเลย ปัญหาเกิดจากม่านไม่ค่อยทึบแสงและไฟมันอยู่บริเวณเตียงพอดีเลย ถ้าคนที่ไม่ชอบนอนเปิดไฟอันนี้เรื่องใหญ่เลยครับ แต่ถ้านอนเตียงล่างจะมืดกว่านี้ ถ้าดูเป็นภาพถ่ายนี้อาจจะอธิบายยากครับ แนะนำว่าให้ไปลองเองงงงง
— ม่าน & ที่เก็บสัมภาระ –
ปิดม่านทั้ง 2 เตียงแล้วด้านนอกเห็นเป็นแบบนี้ครับ เห็นมั้ยครับว่าไฟจะอยู่ตรงกับเตียงบนเลย แล้วไฟ LED ของรถใหม่นี้แรงมากกกกกกกกจริงๆ และสิ่งที่หายไปคือบนม่านไม่มีหมายเลขครับ ผมเดาว่าเค้าน่าจะรอทำพร้อมเปลี่ยนผ้าม่านใหม่เลย คือการที่ไม่มีเลขบนผ้าม่านแบบนี้ไม่ดีตรงที่เวลาที่มีการปูเตียงทุกที่แล้ว ม่านมักจะไปบังเลขที่นั่ง ทำให้โอกาสที่จะเข้าผิดเตียงมีสูงมากครับ
ขอติเรื่องนี้เลยครับ ราวผ่าม่านห่วยมาก ขอใช้คำว่า “ห่วย” เลยครับ คือรูดยากมาก ปัญหาคือรางที่เป็นแท่งตรงๆ มันเบี้ยวไปๆ มาๆ ไม่สมมาตรเป็นแท่งตรง เดี๋ยวหนาเดี๋ยวบาง เวลารูดลำบากมากครับ บางทีถ้าเข้าเตียงก็รูดไม่ได้ พอดึงเปิดม่านก็หลุดจากรางเลย ไม่โอเคครับเรื่องนี้ สรุปเรื่องผ้าม่านกลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาพอสมควรเลยครับสำหรับรถชุดใหม่นี้ หวังว่าจะได้รับการปรับปรุงนะครับ
ว่าด้วยเรื่องของที่เก็บของและสัมภาระ ตู้ชุดใหม่นี้พื้นที่เก็บของใต้เบาะกว้างครับ ด้านล่างนี้เหลือๆเลย มุดไปนอนอีกคนยังได้เลย และดีตรงไม่มีเสาของเบาะเวลาทำเป็นเตียงมาเกะกะอีกต่างหาก อันนี้บางคนอาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าใครที่นั่งรถนอนบ่อยๆ จะรู้ว่าเวลาเราเลื่อนเบาะมาเป็นเตียงมันจะต้องมีเสาเค้ากลางตัว ตรงนี้ถือว่าออกแบบมาได้ดีครับ ส่วนเรื่องความแข็งแรงก็แข็งแรงอยู่นะครับ แต่ไม่รู้ว่าใช้ไปนานๆ จะมีทรุดมั้ย
พื้นที่เก็บของเหนือศีรษะ มีเยอะและกว้างดีเช่นกันครับ เอากระเป๋าเดินทางใบเล็กยัดได้ครับ อันนี้เรียนตามตรงว่าไม่ได้ใช้งานเลยไม่ได้สัมผัสว่าวัสดุทำมาจากอะไรและไม่มีข้อมูลเลยว่า Max Load ได้กี่ Kg
— Service –
เอาล่ะยังไม่ 4 ทุ่มเลย แต่ในตู้โดยสารเงียบมาก สักพักก็ต้องเข้านอนแล้วครับ ไฟในตู้โดยสารไม่มีปิด ไม่มีหรี่ครับสว่างมากจริงๆ ใครยังไม่อยากนอนหรืออยากกินอะไรเวลานี้ห้องเสบียงปิดเที่ยงคืนนะครับไปนั่งชิลล์ๆ ได้ตามอัธยาศัย
ในขณะที่เราเดินทางตั้งแต่ช่วงเย็น ผมก็เห็นพี่จีนคนนึงเค้าเดินไปเดินมาจนผิดสังเกตและดูจากการแต่งกายแล้วไม่น่าจะเป็นผู้โดยสาร จึงได้ลองแอบส่องเค้าดู ปรากฏว่าเค้าคนนี้เป็นช่างที่มาจากโรงงานของจีนครับ มีหน้าที่คอยดูเช็ค คอยดูแลระบบต่างๆ ในขบวนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (แต่ไม่รู้ว่าเค้ารู้เรื่องปั๊มดังรึยังนะ)
จากที่ถามข้อมูลมา ทางโรงงานของจีนเค้าจะมีประกันให้ 1 ปี และใน 1-3 เดือนแรกจะมีช่างมาอยู่ในขบวนรถด้วยตลอด เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาช่างของจีนต้องรู้เรื่องทันที เพื่อที่จะได้ตรวจสอบและแก้ไข แต่พี่พนักงานที่ผมคุยเค้าบอกว่า ปัญหาใหญ่เลยคือ ช่างเค้าพูดอังกฤษไม่ได้นี่แหละ แต่เค้าก็ทำหน้าที่ของเค้าไปเรื่อยๆ นะครับ เดินไปเดินมาเช็คตลอด บางครั้งก็ทำให้เราดูอุ่นใจนะว่าอย่างน้อยเค้าก็ยังคอย Support ให้เรา
— จอแสดงผล –
อันนี้คือสิ่งดีงามที่ผมชอบมากครับ เป็นไฮไลท์ของรถรุ่นให้นี้เลยก็ว่าได้ เพราะเดิมทีแต่ก่อนเนี่ย เวลาขึ้นรถไฟเราจะไม่รู้เลยว่าตอนนี้เราอยู่ไหนแล้ว ใกล้ถึงรึยัง หรืออีกกี่นาทีจะถึง ต้องคอยถามพนักงานเอา แต่ในจอนี้จะบอกทุกเรื่องที่คุณควรจะต้องรู้ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกันไป มีภาพ ไม่มีเสียงนะครับ เรื่องเสียงอย่างที่ได้บอกไปข้างต้น คือยังเป็นระบบกระจายเสียง แบบเสียงตามสายโดย พรร. ที่ประจำอยู่ในขบวนเป็นผู้คอยประกาศครับ แต่เอาจริงๆ ในจอนี่ครบแล้วจริงๆ
ในจอที่นอกเหนือจากรายละเอียดต่างๆ ที่เราควรรู้ก็จะเป็นจอสำหรับเปิดสารคดีหรือสื่อต่างๆ ที่เค้าจะเปิดให้เราดู โดยตอนรถออกจะเปิดเป็นสารคดีของการรถไฟต่างๆ ประวัติการรถไฟ พันธกิจองค์กร ฯลฯ แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงแห่งความโศกเศร้าของประชนชาวไทย ก็จะมีสารคดีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงที่เกี่ยวกับการรถไฟฉายสลับไปครับ
จนประมาณ 4 ทุ่มก็จะเปลี่ยนเป็นตารางการเดินรถและตำแหน่งของขบวนรถตามระบบ GPS ดังที่เห็นทั้ง 2 ภาพ อันนี้แหละเจ๋ง คือในระบบจะคำนวณให้เลยว่าจะถึงสถานีต่อไปเวลาเท่าไหร่ จะจอดกี่นาทีแล้วจะออกจากสถานีเวลาเท่าไหร่ ซึ่งจะอัพเดทตลอดเวลาจนถึงกรุงเทพกันเลยยยย อารมณ์จะเหมือนดูจอบนเครื่องบินเลยครับ
รายละเอียดที่แสดงในจอดังนี้…. (เรียงจากบนขวาลงล่างไปทางซ้าย)
- วันที่ และเวลา
- เลขตู้ที่เราอยู่ ณ ปัจจุบัน
- หมายเลขขบวน
- สถานีปัจจุบัน (ถ้าผ่านไปแล้วจะขึ้นขีดกลาง)
- เวลาถึงปลายทางโดยประมาณ (จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากมีการล่าช้าเวลาก็จะเพิ่ม หรือทำเวลาดีเวลาก็จะลดลง)
- เวลาถึงสถานีถัดไปโดยประมาณ (คำนวณจากเวลาที่เดินรถจริงปัจจุบัน ไม่ใช่ตามตารางเดินรถ)
- ความเร็วของขบวนรถ (เต็มที่นั่งมาวันนี้วิ่ง 100km/h +/-)
- ไฟแสดงสถานะห้องสุขา (สีเขียว=ว่าง สีแดง=ไม่ว่าง) ** ห้องส้วมที่มี 2 ห้องถ้าห้องนึงว่างห้องนึงไม่ว่างก็จะขึ้นสีเขียวครับ
- อุณหภูมิภายนอกและภายใน
- ชื่อสถานีก่อนหน้า
- ชื่อสถานีถัดไป
- ชื่อสถานีต้นทาง
- ชื่อสถานีปลายทาง
— ถึงที่หมาย –
ตัดภาพมาตอนเช้า วันนี้ผมตื่นเช้าหน่อยครับ เพราะตามเวลารถจะถึงกรุงเทพฯ 06.50 น. ก็เลยต้องรีบตื่นมาเก็บรายละเอียดเรื่องเวลานิดหน่อยซึ่งจะสรุปให้ตอนท้ายนี้ครับ และก็ขาดไม่ได้กับสิ่งที่ผมอยากจะลองนั่นก็คืออาหารเช้าครับ ว่าแล้วก็ไปตู้เสบียงสิครับรออะไร
ตู้เสบียงในขบวนถ้าเข้าใจไม่ผิดเปิดตั้งแต่ตี 5 อาหารก็สั่งได้เหมือนตอนเย็นแหละครับไม่ได้เป็นเมนูอาหารเช้าที่แยกต่างหากเหมือนในด่วนพิเศษนครพิงค์ แต่ก็ยังมีเมนูที่เป็นอาหารเช้าอยู่ 2 อย่างคือไส้กรอกกับไข่ดาว (ที่ทอดทิ้งไว้แล้ว) หน้าตาจะได้ประมาณนี้
เรื่องรายละเอียดของราคาและอาหารผมลืมเก็บบิลไว้ครับ ค่าเสียหายประมาณร้อยกว่าบาท เรื่องรสชาตินั้น ถ้าไข่ดาวร้อนและไข่แดงไม่สุกจะอร่อยกว่านี้ ไส้กรอกก็ไม่ได้พิเศษหรือแปลกอะไรครับพอทานได้ แซนด์วิชอร่อยโอเคเลยครับ รสชาติดีกว่าที่คาดไว้เยอะเลย ส่วนกาแฟหวานนนนนมากกกกกกกก หวานจริงๆ ครับ หวานแบบน้ำแข็งละลายยังหวานเลย
และแล้วก็มาถึงที่หมาย ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ วันนี้ผิดคาดครับจากเที่ยวก่อนหน้านี้ (ข.9 กรุงเทพฯ – เชียงใหม่) ถึงที่หมายตรงเวลาเป๊ะ แต่ ข.10 ที่ผมนั่งกลับมานี้เลทครับ ซึ่งจริงๆ ตั้งแต่ออกมาถือว่าทำเวลาได้ดีมากๆแล้วครับ แต่ไปเสียเวลาก่อนเข้าย่านสถานีแค่นั้นเลยครับ คือผ่านสามเสนมาเวลายังดีอยู่เลยครับเลทประมาณ 10 นาที แต่แล้วก็ต้องมาจอดรอเข้าย่านสถานี เลยทำให้เสียเวลาไป 36 นาที
— ภาคผนวก —
ก่อนที่จะถึงบทสรุปผมก็จะมาใส่รายละเอียดเกี่ยวกับ ค่าโดยสาร และ ตารางการเดินรถให้ ในที่นี้ผมจะลงไว้เฉพาะ รถไฟสายอุตราวิถี นะครับ
ค่าโดยสาร กรุงเทพฯ – เชียงใหม่
ค่าโดยสาร เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ
ตารางเวลาการเดิน รถไฟสายอุตราวิถี
การดูตาราง
กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ แถวซ้ายอ่านจากบนลงล่าง
เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ แถวขวาอ่านจากล่างขึ้นบน
การจองตั๋ว
ท่านสามารถจองตั๋ว รถไฟสายอุตราวิถี ได้ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศที่มีการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสามารถจองได้ผ่านทาง Hotline : 1690
— สรุป –
เป็นที่แน่นอนครับว่าในความเป็นของใหม่หลายอย่างก็จะดี หลายอย่างก็ยังติดขัดกันไปบ้าง แต่ตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาการขนส่งระบบรางของบ้านเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
การเดินทางกับการรีวิวของผมในครั้งนี้ เขียนขึ้นมาจากความชอบและหลงใหลในรถไฟล้วนๆ ครับ อาจจะมีเอนเอียงบ้างก็อย่าว่ากัน ตรงไหนที่ผมเห็นว่ามันดีผมก็อยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาทดลองใช้กันครับ ตรงไหนที่ไม่ดีผมก็อยากติเพื่อก่อครับ ไม่อยากติให้อะไรมันแย่ลงไปอีก
สำหรับมุมมองใหม่ๆ ของการเดินทางโดยรถไฟชุดใหม่นี้ยังมีหลายส่วนที่ผมยังไม่ได้พูดถึงและไปสัมผัส หวังว่าคราวหน้าจะมีโอกาสได้ไปสัมผัสชั้น 1 ดูสักครั้ง และถ้าไม่มีคนมารีวิวไปก่อน ผมก็จะมารีวิวให้อ่านกันนะครับ
สุดท้ายแล้วถ้าถามว่ากับการเปิดเดินรถวันแรกผมประทับใจมั้ย ตอบเลยว่าประทับใจครับ เพราะว่าสิ่งที่เราได้รับมาคือมุมมองใหม่ๆ มิติใหม่ๆ ของการเดินทางครับ อะไรที่เป็นข้อบกพร่องผมเชื่อว่าทางการรถไฟแห่งประเทศไทยคงจะรีบแก้ไขและพัฒนาต่อไป รวมถึงรถไฟตู้เก่าๆ ที่ยังใช้ได้อยู่ในเร็ววันก็คงจะได้เห็นการพัฒนาครับ ในไม่ช้าอีก 5 ปี 10 ปี คงเป็นยุคที่การรถไฟไทยก้าวกระโดดไปในทิศทางที่ดีขึ้นครับ
หวังว่ารีวิวนี้ของผมจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านทุกท่าน ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตาม แล้วพบกันใหม่ในรีวิวหน้า
ขอบคุณ Guest สุดพิเศษที่มามอบประสบการณ์นั่งรถไฟ รถไฟสายอุตราวิถี แบบจัดเต็มขนาดนี้ รับเสียงปรบมือจากเราไปเล้ย!!
ระดับความสนุก: ✩✩✩✩✩
เครดิต: Fewz_RTK