สวัสดีทุกท่านค่ะ ขอแนะนำที่มาที่ไปของการรีวิวการเดินทางครั้งนี้ก่อน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้รับพัสดุชิ้นหนึ่งส่งมาจากญี่ปุ่น จ่าหน้าผิดๆ ถูกๆ ถึงเรา ชื่อก็เขียนแค่ชื่อเล่นเฉยๆ ชื่อตึก ชื่อเขต รหัสไปรษณีย์ผิดหมด แต่คุณไปรษณีย์ก็ดันส่งถึงอีกแน่ะ เมพมากๆ ฮ่ะ เปิดออกดูข้างในมีกล่องขนมสองกล่อง กระดาษรองจาน Lunch mat ลายญี่ปุ่นๆ หนึ่งซองใหญ่ โปสการ์ดสองใบที่มีคำอธิบายด้วยว่ามีความหมายว่าอะไร และ จดหมายหนึ่งซอง ในนั้นมีรูปถ่ายสองรูป เนื้อหาในจดหมายคือ
เป็นยังไงบ้างจ๊ะ (ชื่อเรา) จำได้มั้ยว่าเราเจอกันวันที่ 17 พ.ค. ตอนขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก ตอนนั้นมีจอชด้วยนะ แล้วลุงก็ถ่ายรูปบนเรือโดยบอกว่าจะอัดแล้วส่งมาให้ ให้พวกหนูเขียนชื่อที่อยู่ลงในสมุดโน้ต แต่ว่ากลับมาแล้วก็หาสมุดโน้ตนั้นไม่เจออยู่นาน เพิ่งจะมาค้นเจอเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เลยจัดแจงส่งมาให้ทันที ขอโทษด้วยที่ไม่ได้ติดต่อมาเสียนาน ตอนนั้นยังอากาศอุ่นๆ อยู่เลยเนาะ แต่ตอนนี้เริ่มหนาวแล้วล่ะ ปีหน้าก็มากันอีกนะหนูๆ ลุงแถมขนมเค้กญี่ปุ่นมาให้ด้วย ขอโทษอีกทีที่ส่งมาช้าจ้ะ (ลงชื่อคุณลุง) –
โอยยยย น่ารักที่สุดดดดดดดในสามโลก นี่ลุงทำเรารู้สึกผิดที่ไม่ได้ติดต่อไปด้วยนะเนี่ย Y^Y ผิดไปแล้วก่ะ ขอบคุณลุง มากๆ เจ้าค่ะ คุณลุงคือหนึ่งในคนที่เราเจอระหว่างไปเดินทางครั้งนี้ค่ะ เราเจอสิ่งดีๆ ระหว่างการเดินทางครั้งนี้มากเลย ว่าจะเขียนถึงเพื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้จัก แต่ก็เลื่อนไปเลื่อนมา จนนี่ผ่านไปเกือบแปดเดือนแล้ว พอได้พัสดุคุณลุงอันนี้แหละ เลยรู้สึกฮึด เอาวะ ทำรีวิวละกัน!
เราไปแสวงบุญมาค่ะ แม่นแล้ว.. เราไปเดินแสวงบุญที่ญี่ปุ่นมาค่ะ
เส้นทางแสวงบุญ ชิโกกุ (Shikoku Henro / Shikoku 88 Temples Pilgrimage)
เป็นการเดินทางแสวงบุญรอบเกาะชิโกกุ เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของญี่ปุ่น แต่มีคนอาศัยหนาแน่นน้อยที่สุด
เส้นทางนี้มีมาเป็นพันปีแล้วล่ะ ก็คิดซะว่านับตั้งแต่สมัยเฮอันน่ะ เพราะนิกายชินกอนที่ท่านโคโบ ไดชิ ก่อตั้งนี้ กำเนิดขึ้นในสมัยเฮอัน แต่เส้นทางนี้น่ะเป็นเส้นทางก่อนที่ท่านจะได้รับการเรียกขานกันว่าเป็น “ท่านโคโบ ไดชิ” ซะอีก ชื่อนี้เป็นชื่อยกย่องค่ะ ส่วนชื่อเดิมของท่านคือพระคูไค ท่านมาเดินหาคำตอบให้กับชีวิต รอบเกาะชิโกกุ ธุดงค์ไปเรื่อย แต่ระหว่างเดินทาง ก็มีเรื่องไม่คาดคิด และเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย เส้นทางนี้จึงได้รับการนับถือเป็นหนึ่งในเส้นทางแสวงบุญที่คนญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุด และอยากมาให้ได้สักครั้งในชีวิต
เนื่องจากเราจะตามรอยพระคูไคกัน ดังนั้นก็ต้องเดินสิคะ เดินสิ original ที่สุดละ รอบเกาะมีป้ายบอกทางเป็นสติ๊กเกอร์บ้าง ป้ายไม้บ้าง ทำโดยทั้งทางการและคนในพื้นที่ เส้นทางนี้จึงเดินได้โดยไม่หลง (ถ้าหูตาไวอ่ะนะ) แม้ไม่มีแผนที่ ระยะทางรอบเกาะประมาณ 1,200 กิโลเมตร ผ่านวัดหลัก 88 แห่ง มีทั้งในเมือง ทั้งป่า เลียบทะเล ขึ้นเขา ลงห้วย มีหมด เริ่มจากจังหวัด โทคุชิมะ (Tokushima) > โคจิ (Kōchi) > เอฮิเมะ (Ehime) และคางาวะ (Kagawa) โดยแต่ละจังหวัด ก็แทนแต่ละระยะของการรู้แจ้งของท่านคูไค
จังหวัดโทคุชิมะ จุดเริ่มต้นเดิมชื่อแคว้นอาวะ (Awa province) แทน “awakening” การตื่น จังหวัดโคจิ ส่วนที่เส้นทางยาวไกลที่สุดในสี่จังหวัด เดิมชื่อแคว้นโทสะ (Tosa province) แทนการฝึกตน “ascetic training” จังหวัดเอฮิเมะ เดิมชื่อเคว้นอิโยะ (Iyo province) แทนการรู้แจ้ง “enlightenment” และสุดท้าย จังหวัดคางาวะ เดิมชื่อแคว้นซานุกิ (Sanuki province) แทนนิพพาน “nirvana”
ทั้งหมดนี้มีวัดหลัก 88 แห่ง ตามชื่อของเส้นทางแสวงบุญเลยค่ะ (Shikoku 88 temple pilgrimage ส่วนชื่อภาษาญี่ปุ่น ถ้าเรียกแบบเต็มๆ ก็มีความหมายเหมือนกัน แต่ถ้าเรียกแบบสั้น ก็เรียก Shikoku ohenro ค่ะ) และวัดลำดับรอง ที่ไม่มีตัวเลขนับให้ เรียกว่า “บังไก” อีกประมาณ 20 แห่ง ซึ่งบางแห่งก็ต้องออกนอกเส้นทางหลักไปไกลโข หากเดินเท้าทั้งหมด เฉพาะวัดหลักทั้ง 88 จะใช้เวลาประมาณ 45 – 50 วัน ถ้าเป็นพวกถึกๆ เดินเร็วก็อาจจะทำได้ใน 30 วันค่ะ แต่หากใช้รถ หรือปั่นจักรยาน ระยะเวลาก็จะลดลงไปเกินครึ่ง
การเดิน มีหลายแบบ จะเดินแบบรวดเดียวครบทุกวันก็ได้ หรือแบ่งเป็นทีละจังหวัด หรือแบ่งตามความสะดวกของตัวเองก็ได้ จะเริ่มที่วัดไหนก่อนก็ได้ จะเดินย้อนทางก็ได้นะ เรียกว่า gyaku-uchi ส่วนการเดินตามลำดับปกติแบบวนตามเข็มนาฬิกาจาก 1 ไล่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า jun-uchi เมื่อก่อนถือกันว่าการเดินย้อนทางได้บุญมากกว่า เพราะยากกว่า เนื่องจากป้ายชี้ทางต่างๆ มันจะชี้ไปตามเส้นทางเรียงลำดับวัดตามตัวเลข ไม่ชี้ย้อนทาง ปัจจุบันเท่าที่ถามไถ่กันมา เขาก็บอกได้บุญเหมือนๆ กันแหละ ไม่ว่าจะเดินย้อน เดินตาม ไม่ว่าจะมาแบบรวมเดียวหรือแบ่งๆ เอา
ที่จริงคนญี่ปุ่นน้อยคนที่จะมาแบบรวดเดียวค่ะ เพราะว่าเขาไม่ค่อยมีเวลาว่างยาวๆ เหมือนเราหรือชาติอื่นๆ เนื่องจากมักทำงานบริษัทใดบริษัทหนึ่งยาวตลอดทั้งชีวิต การลางานเป็นเดือนๆ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ส่วนชาวต่างชาติมักจะมากันในช่วงเปลี่ยนผ่านของการงานหรือการเรียนต่อ จึงมีเวลาว่างยาวพอที่จะเดินรวดเดียวได้ ได้ยินอย่างนี้แล้วอุ่นใจเนาะ เพราะรอบนี้เราจำนวนวันหยุดไม่พอ เราก็คงไปเดินรวดเดียวไม่ได้ละ เนื่องจากเรามีวันหยุดแค่เดือนเดียว เราก็ทำใจไว้อยู่แล้วว่าจะไปไม่ครบ เพราะเราคิดว่าจะเดินเอา หักลบกลบหนี้กับการต้องไปทำธุระที่นู่นนี่ในญี่ปุ่นด้วย เราก็เหลือเวลาแค่ 21 วันสำหรับการเดินทางบนเกาะชิโกกุค่ะ
สิ่งที่เราตั้งใจคร่าวๆ ก่อนไปคือ
- เดินตามเส้นทางมาตรฐาน เริ่มจากวัดที่ 1 คิดว่าน่าจะไปได้สักครึ่งเกาะนะตอนนั้น
- ไม่กางเต็นท์ เพราะเราไม่เคยกางเต็นท์เองมาก่อน และคิดว่าเดินทางผู้หญิงคนเดียวคงมีความเสี่ยงพอสมควร ประกอบกับไม่อยากแบกเต็นท์ด้วย เลยตัดสินใจจะนอนที่พักแบบมีหลังคาคลุมหัวค่ะ (ซึ่งมีหลายแบบ จะได้พูดถึงต่อไปนะคะ)
- เอาของไปให้เบาที่สุด เสื้อผ้าบางๆ ซักง่าย แห้งไว ไม่กี่ตัว
- ไม่เอาหูฟังไป เพราะอยากอยู่กับโลกรอบตัวให้มากที่สุด
- ใช้ซิมใส่มือถือ ไม่เช่า Pocket WiFi ไป เพราะมันจะเพิ่มน้ำหนักของเป้
งบของการเดินทางนี้ เราเฉลี่ยเอาว่าวันละ 10,000 – 12,000 เยน เป็นค่าที่พักคืนละประมาณ 7,000 เยน ที่เหลือก็ซื้อของกิน ค่าตราประทับของแต่ละวัด สามสิ่งสำคัญของชีวิตในแต่ละวันค่ะ เราจะขอเล่าแบ่งไปตามวันนะคะ ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า จำรายละเอียดไม่ได้มากนัก เพราะไม่ได้บันทึกไว้ (เอาสมุดโน้ตออกจากกระเป๋าเพื่อลดน้ำหนัก) และผ่านมานานแล้ว เอาล่ะ ไปลุยกันเลย
วันที่ 1 เราไปพักที่เมืองนารูโตะ จังหวัดโทคุชิมะในคืนแรกที่ไปถึง เที่ยวแถวนั้น แล้วออกเดินทางเริ่มแสวงบุญในวันรุ่งขึ้นแต่เช้าค่ะ วางแผนแล้วคิดว่าวันที่ 1 ของการแสวงบุญจะเดินจากวัดที่ 1 – 6 เป็นระยะทาง 17.6 km
No.1 Ryōzenji — 1.3 km → No.2 Gokurakuji — 2.7 km → No.3 Konsenji — 6.3 km → No. 4 Dainichiji — 2 km → Jizōji — 5.3 km → Anrakuji
เริ่มด้วยความซวย เริ่มตอนเช้าออกจากโรงแรมเดินไปถึงสถานี รถไฟคันที่จะขึ้นวิ่งออกพอดี เลยต้องเดินไปถามเจ้าหน้าที่ พอเขาเห็นเป้กับรองเท้า trekking ก็บอกเลย ไปเรียวเซนจิใช่มั้ย เราก็ ไฮ! แล้วเขาก็พิมพ์ตารางรถบัสเที่ยวต่อไปที่จะไปถึงวัดลำดับที่ 1 ออกมาให้เลย บอกให้ขึ้นจากป้ายหน้าสถานีนี่แหละ ไปรอเลยแม่หนู ว่าแล้วเราก็ได้นั่งรถบัสไปวัดลำดับที่ 1 อันที่จริงสะดวกกว่าขึ้นรถไฟอีกนะ เพราะว่าป้ายรถบัสอยู่หน้าวัดเลย ส่วนสถานีรถไฟต้องเดินไปอีกเป็นสิบนาที
วัดที่ 1: เรียวเซนจิ (Ryōzenji) เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง วัดนี้มีร้านขายอุปกรณ์แสวงบุญทั้งหลายเป็นร้านใหญ่อยู่ในวัดเลย ว่าแล้วก็เข้าไปกันเลย อุปกรณ์แสวงบุญต่างๆ มีมากมายหลายสิบอย่าง เผื่อกิโลไว้เลย ว่าซื้อครบทุกสิ่ง น้ำหนักกระเป๋าจะเพิ่มขึ้นมาอีกสองโล รวมแล้วหมดเงินเป็นเป็นหมื่นๆ เยนเจ้าค่ะ น้ำหนักเป้เพิ่ม น้ำหนักตังค์ในกระเป๋าลดทันที
เอาล่ะๆ ซื้อของเสร็จให้เจ้าหน้าที่ช่วยแต่งตัวให้ แล้วก็เข้าไปวัดกันเลยค่ะ ที่วัดที่ 1 นี้เราไม่ต้องไปเข้าคิวประทับตราอีกแล้วนะคะ เพราะในสมุดตราประทับที่ซื้อมาเขาได้เขียนเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้วค่ะ สักการะเสร็จก็เดินตัวปลิวไปได้เลย
แต่ละวัด จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันค่ะ วัดนี้ เข้าไปปุ๊บ มีบ่อเลี้ยงปลาและน้ำพุค่ะ บรรยากาศสบายๆ เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าวัดแหละ คนเยอะมาก เราก็สังเกตการณ์ก่อนค่ะว่าเขาสวดอะไรกันยังไง ทำอะไรก่อนหลัง แล้วก็ค่อยๆเลียนแบบเขาไป ยอมรับเลยว่า.. มันสวดยาก ..
วัดที่สอง Gokurakuji อยู่ห่างไปแค่ 1.3 km เดินไปตามเส้นทางผ่านชุมชน เป็นถนนลาดยางเล็กๆ สองเลน เริ่มสัมผัสได้ถึงความหนักของเป้ละ ทั้งที่เดินไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และเป้หนักแค่ประมาณ 12 กิโล วัดที่สองนี่กว้างขวางดี คนเยอะ มีคนขับรถมากันเยอะอยู่ คงเพราะเป็นช่วง Golden Week ด้วย เลยคึกคักเป็นพิเศษ มีลุงป้าใจดีคู่นึงเห็นเรามาคนเดียว ก็อาสาถ่ายรูปให้ด้วยล่ะ ^^
มีจุดพักสำหรับผู้แสวงบุญ มีของกินขายด้วย เราก็เริ่มหิวละ แต่ก็เอาวะ เดินอีกหน่อยละกัน วัดถัดไปห่างออกไปแค่ 2.7 km เอง ระหว่างทางจะเห็นป้ายบอกทางสำหรับผู้แสวงบุญติดอยู่ทั่วไปเลยค่ะ เดินไปแทบจะทุกๆ ร้อยเมตร มีสัญลักษณ์หลากหลายแบบมาก ทั้งของราชการ และของเอกชน บางสติ๊กเกอร์ก็เป็นของกลุ่มนักเดินทางต่างชาติ ก็จะมีสัญลักษณ์ของชาตินั้นๆ ด้วย ที่จำได้แม่นคือของแคนาดาค่ะ มีเยอะมากเลย บางอันก็เป็นของชาวบ้านทำ วาดกันเอง เอาไว้ช่วยบอกทางเนาะ น่ารักมากเลย ถ้าตาดีๆ สังเกตรอบๆ ตัว โอกาสหลงน้อยมากค่ะ (สำหรับโซนนี้นะ)
วัดที่ 3 ชื่อวัด Konsenji กว่าจะไปถึงก็บ่ายแล้ว หิวมาก ดูในแผนที่แล้วไม่มีที่กินเลย ถ้าจะมีให้กินก็ต้องเดินย้อนไปอีกหน่อย ตอนไปประทับตรา ก็เลยถามเจ้าหน้าที่ เขาก็ให้แผนที่มาเรียบร้อย บอกให้ไปกินอุด้งที่ร้านตรงนี้ๆๆ นะ
จากวัดที่ 3 ไปวัดที่ 4 Dainichiji ระยะทาง 6.3 km เดินก็ประมาณ 1.5 ชม. วัดนี้อยู่บนเขานิดหน่อย และเริ่มออกไปชานเมืองละ ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูร้อน หนอนผีเสื้อเยอะมากกกกกกกก คนเกรงหนอนแบบเดี๊ยนจึงลำบากมาก เพราะพอเห็นดอกไม้สวยจะยื่นกล้องเขาไปถ่ายก็.. เอ้ย หนอนๆ เอาจริงๆ นะ ระหว่างทางไปวัดที่ 4 นี่เจอเป็นพันได้มั้ง เยอะมากจริงๆ คิดแล้วยังขนลุกนิดๆ
จากวัดที่ 4 ไปวัดที่ 5 Jizōji เป็นเส้นทางลงเขา ค่อยยังชั่วหน่อย แค่ 2 km เองด้วย แต่พอไปถึงวัดที่ 5 นี่ก็ เกือบ 4 โมงเย็นละ วัดนี้มีลานกว้าง มีต้นแปะก๊วยใหญ่อยู่กลางลาน ดูขลังดี
ตอนเข้าไปประทับตราลงสมุด เห็นคนให้เจ้าหน้าที่เขียนลงบนม้วนผ้าขนาดใหญ่มากๆ แล้วก็เอาไดร์ที่มีแถวนั้นมาเป่าๆให้แห้งแล้วม้วนเก็บเข้ากล่องกลมยาวๆ มารู้ทีหลังว่าสิ่งนี้เรียกว่า Nōkyōkakejiku / Stamp scroll คือมันเป็นสิ่งที่อลังการกว่าสมุดสะสมตราประทับค่ะ เพราะมันเป็นผ้าผืนขนาดใหญ่มาก คิดว่าสูงน่าจะสองเมตรขึ้นไปถึงสามเมตร กว้างประมาณเมตรนึง ตีเส้นแบ่งช่องไว้เรียบร้อยสำหรับตราของแต่ละวัด พอเก็บครบเขาก็จะเอาไว้บูชา แต่ข้อจำกัดของมัน นอกจากจะพกไปแสวงบุญด้วยยากเพราะความใหญ่โตของม้วนผ้าแล้ว ก็ยังต้องออกออกจากม้วนมาจัดแสดงให้สมเกียรติในทุกๆ ปีด้วย ซึ่งใครที่บ้านเล็ก ไม่มีที่จัดแสดงที่เหมาะสม เขาก็จะไม่สามารถสะสมตราประทับแบบนี้ได้ค่ะ อีกอย่างคือราคาของผ้านี้ ผ้าเปล่าๆ อยู่ที่ 15,000 เยนแน่ะ.. กว่าจะประทับตราครบ นู่นเลย ใช้เงินประมาณ 35,000 เยนค่ะ
ปกติสำนักงานของวัดต่างๆ จะปิดเวลา 17.00 น. ค่ะ ดูละคิดว่า เราเดินไปไม่ถึงวัดที่ 6 Anrakuji ก่อนสำนักงานวัดปิดแน่ เพราะห่างออกไปอีกตั้ง 5.3 km เปิดดูแผนที่ เอาวะ ยังไงก็ต้องไป เพราะแถวนี้ไม่มีที่พักเลยจ้าาาา ว่าแล้วก็รีบจ้ำโดยด่วน เดินอีกเป็นชั่วโมงจ้า ระหว่างทางเดิน ก็ได้เจอสิ่งที่เรียกว่า Henro Goya Project มันคืออาคารที่พักระหว่างเส้นทาง ที่เกิดขึ้นจากโครงการชื่อเดียวกัน เริ่มในปี 2001 โดยอาสาสมัครชุมชน มาร่วมกันสร้างอาคารไม้จำนวน 89 หลัง เป็นอาคารที่นั่งพักเล็กๆ บางแห่งก็อนุญาตให้ค้างคืนได้ด้วย แต่ก็ไม่มีอะไรบริการนอกจากที่นั่ง หรือผืนทาทามิเล็กๆ บางที่ก็มีเบาะนั่ง + – ผ้าห่มให้ด้วย โดยทั่วไปจะไม่มีห้องน้ำ หรืออ่างล้างหน้าให้ค่ะ อาคารแรกที่เราเจอ เป็นอาคารไม้ที่ออกแบบได้สวยมาก โล่งๆ ลมโกรกได้ แต่ร่มค่ะ ในแต่ละที่พักแบบนี้จะมีสมุดสำหรับผู้แวะมาลงชื่อ อยากเขียนอะไรก็เขียนลงไปได้ บางคนก็วาดรูปเอาซะจริงจังด้วยนะ
เดินไปไม่นาน ก็เจออีกหลังละ อันนี้เป็นที่พักของชาวบ้านธรรมดา เล็กกว่าแห่งแรก เหมือนที่นั่งพักมากกว่า
เดินไปนอกเมืองเรื่อยๆ เริ่มเว้งว้างละ ได้สังเกตสังกา trend การแต่งบ้านของคนแถวนี้ พบว่าเขาชอบปลูกต้นไม้ให้สูงขึ้นมาเหนือทางเข้าบ้านล่ะ เหมือนเป็นหลังคาต้นไม้น่ะ แต่ละต้นดูอายุไม่เบาเลย ยิ่งแก่ยิ่งขลังสินะ พบเห็นได้เยอะมากระหว่างทาง คงเป็นเทรนด์ของคนแถวนี้ สวยดีแฮะ
เดินไปเรื่อยๆ เริ่มหิว ไม่ได้พกอะไรมากินด้วยสิ ทางเดินก็เวิ้งว้าง ทุ่งนา ซอยลึก ตรูหิววววววว แต่ในที่สุดก็ถึงจนได้ เย้! รอดตายแล้วว
คือหวังสูงมากว่าที่พักจะต้องมีอะไรให้กิน หรือรอบๆ นี้ก็ต้องมีร้านอะไรมั่งละวะ เข้าประตูวัดไป มองหาเจ้าหน้าที่ก่อนเลย เลี้ยวขวาไปนิดเดียวก็เจออาคารใหม่สวยงาม รองเท้าจอดเพียบ มันต้องเป็นที่พักแน่ๆ ทำไมมันดูดีกว่าที่ตรูจินตนาการไว้อยู่เป็นห้องเล็กๆ บนหอระฆังฟระ ด้วยความหิวหน้ามืดเลยรีบถามเจ้าหน้าที่ ที่นี่วันนี้พักได้มั้ยคะ เขาก็ถาม จองไว้รึเปล่าครับ? เปล่าค่ะ อืมมม ((ครุ่นคิดหนักมาก)) .. อืม.. มีห้องอยู่นะ แต่ว่าไม่ได้จองมาก่อน จะไม่มีมื้อเย็นให้นะครับ ได้รึเปล่า ได้ค่ะ ตอบไปไวไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าเหนื่อยมาก ปวดเท้า ปวดขา ปวดไหล่ และหิว คิดว่า เอาวะ เดี๋ยวไปเดินหาร้านอาหารแถวนี้เอาก็ได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ 6 โมงเย็นเลย มันต้องมีสักร้านละวะ ก็เช็คอินเรียบร้อย จ่ายตังค์เสร็จ ก็คิดขึ้นมาได้ เอ๊ะ.. แล้วไอ้ที่พักฟรีบนหอระฆังล่ะ? เออๆ เอาเหอะ ๆ ขึ้นไปดูที่พัก โอยยย ตรูนอนที่นี่แหละ ที่เตียง มีห้องอาบน้ำรวมออนเซน มีไฟสว่างไสว เจริญตามาก
เขาบอก อีกแป๊บมีวัตรเย็นรวมกันนะครับ ให้ลงมาตามเวลานัดแนะ วันนี้คนมาพักเยอะมากค่ะ วัตรเย็นก็พิเศษ มีทางเดินจากตึกที่พักอ้อมไปทางอาคารพระประธาน คนประมาณ 50 คน สวดมนต์รวมกัน มีพระท่านอธิบายนู่นนี่ บรรยากาศขลังมากๆ เลย ทำวัตรเสร็จเป็นเวลากินข้าวเย็นของคนอื่น เราก็ถามเจ้าหน้าที่ สรุปแถวนี้ไม่มีร้านค้าใดๆ จ้าาาา แต่ยังดีที่มีร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ ในอาคารนี้ด้วย เราไปเดินสำรวจดู มีของกินนิดหน่อย เลยซื้อเค้กมันหวานมากินค่ะ ก็พออยู่ได้นะ เดินออกมาชักภาพที่พักสักหน่อย ตอนฟ้ามืดหน่อยๆ ก็สวยดีแฮะ หน้าทางเข้า จะมีที่ใส่ไม้เท้าค่ะ
เสร็จแล้ว ขึ้นห้องไปพักผ่อนอีกนิดหน่อย ก่อนไปอาบน้ำ ที่นี่เป็นห้องอาบน้ำรวมแบบออนเซนค่ะ เพราะเมื่อก่อนที่นี่มีน้ำพุร้อน ที่มีสรรพคุณรักษาอาการเจ็บป่วย พระประธานที่นี่ จึงเป็น Yakushi Nyorai หรือพระไภษัชยคุรุ นั่นเอง เป็นพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับหยูกยาค่ะ ตรงกลางของบ่อออนเซนเป็นแท่นเหมือนที่เก็บยาด้วยหละ เก๋มากๆ ชอบมากเลย สบายตัว สบายใจแล้วก็กลับขึ้นมาห้องพัก เช็คสภาพร่างกายตัวเอง ที่มีเดินแล้วล้มไปบนเขาครั้งนึง > เป็นรอยช้ำค่ะ และที่ปวดๆตรงนิ้วเท้า > เป็นตุ่มน้ำแล้วววว โนววว เอาล่ะ ทำใจๆ รีบๆ นอนจะได้ไม่หิวอีกนะ