Guest ของ มัชรูมทราเวล วันนี้ เป็นคุณผู้หญิงที่มีแนวคิดในเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวซึ่งน่าสนใจมากๆ ค่ะ โดยวันนี้เธอจะพาเราไปเรียนรู้และรู้จักกับพระอัจริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ของเราชาวไทยกันที่ หออัครศิลปิน ณ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จะเป็นอย่างไรนั้น ตามไปดูเรื่องราวของเธอกันเลยค่ะ
รู้จักศิลปินแห่งชาติ และพระอัจฉริยภาพของในหลวง ที่ หออัครศิลปิน
ผ่านมาได้ 1 เดือน แล้วกับการสวรรคตของในหลวง… แต่คิดว่าใครหลายๆ คนคงเป็นเหมือนเอมที่เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ชม อะไรบางอย่างเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ก็ยังรู้สึกตื้อๆ เหมือนจะยังไม่อยากยอมรับความจริงอะไรบางอย่าง
วันนี้ต้องไปทำธุระย่านชานเมือง ทำธุระเสร็จมีเวลา เลยถือโอกาสแวะเข้าไปชมสถานที่แห่งหนึ่ง อยากไปชมพระอัจริยภาพด้านหนึ่งของพระองค์คือด้านศิลปะ สถานที่แห่งนี้คือ ” หออัครศิลปิน ”
หออัครศิลปิน สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 และเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งคำว่า “อัครศิลปิน” เป็นพระราชสมัญญาที่ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แปลว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”
การเดินทาง : หนทางที่สะดวกที่สุดคือ… รถยนต์ส่วนตัวค่ะ หรือจะรถแท็กซี่ก็ได้ แต่ขากลับอาจจะหาเรียกได้ยากหน่อย หรือหาจากเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ สามารถที่จะขึ้นรถบัสเขียวตรงป้ายรถเมล์ตรงข้ามฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต คันที่เขียนด้านข้างว่า บางขัน หนองเสือ หรือ หนองเสือคลอง 13 บอกคนขับว่าลงคลอง 5 รถจะจอดตรงทางเข้าด้านหน้า เราเดินเข้าไป (แต่ไกลมาก) หรืออาจจะโทรเข้าไปที่เบอร์ 02 986 5020-4 ติดต่อให้ทางพิพิธภัณฑ์นำรถออกไปรับก็ได้นะคะ (พี่เจ้าหน้าที่บอกมา)
ตอนผ่านป้อมยามด้านหน้า แลกบัตรเรียบร้อย พี่เจ้าหน้าที่จะถามว่าเราจะไปไหน ถ้าจะไปดูไดโนเสาร์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ) ก็เลี้ยวซ้ายไปค่ะ แต่ถ้าจะไปหออัครศิลปินก็เลี้ยวขวาไปก่อน แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางด้านหลัง
เวลาทำการ : เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ระหว่างเวลา 9.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม : ฟรีค่ะ ^^ แถมมีของติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วยนะคะ
เกริ่นมาพอสมควร เราเข้าไปชมด้านในกันเถอะค่ะ บางส่วนของบทความ เอมขอใช้คำที่เป็นภาษาธรรมดาๆ นะคะ
เมื่อเข้ามาบริเวณโถงด้านใน จะมีจัดแสดงเกี่ยวกับพระอัจริยภาพด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่ะ ทั้งทางด้านถ่ายภาพ งานเขียน หัตถศิลป์ ดนตรี การออกแบบ สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ท่านเก่งรอบด้านจริงๆ ค่ะ
จากทางเดินเข้ามา ด้านซ้ายมือจะเป็นห้อง “วิศิษฏศิลปิน” ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะเป็นห้องที่แสดงผลงานด้านต่างๆ ของพระองค์ ทั้งทางด้านงานเขียน ด้านดนตรี ด้านจิตรกรรม คำว่า วิศิษฏศิลปิน หมายถึง ผู้เป็นเลิศทางศิลปะค่ะ
เดินออกจากห้อง “วิศิษฏศิลปิน” เราก็เลี้ยวซ้าย ขึ้นบันไดไปชั้น 2 ค่ะ พอเราขึ้นบันไดชั้น 2 มา ก็จะพบกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่ะ
ตรงโซนด้านขวาทั้งหมด จะเป็นโถงจัดแสดงเกี่ยวกับภาพวาด และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนตรงกลางโถงจะเป็นที่ประดิษฐานพระราชลัญจกร (ตราประจำพระองค์ – ของรัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบไปด้วยวงจักร มีอักษรอุ หรือเลข 9 อยู่กลางวงจักร รอบวงจักรมีรัศมีโดยรอบ และมีเศวตฉัตร 7 ชั้นอยู่เหนือจักร หมายถึง ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน)
ภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่จัดแสดงอยู่นั้น จะเป็นภาพวาดสีน้ำมันค่ะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่สำเนามา โดยมีภาพจริงจำนวน 4 ภาพ ที่จะจัดแสดงอยู่ตู้กระจก พระองค์ทรงวาดภาพไว้มากที่สุดในช่วงระหว่าง พ.ศ.2502 – 2510 มีจำนวน 100 กว่าภาพ (แต่ที่สำเนามาจัดแสดงมีประมาณ 30 กว่าภาพ) มีทั้งภาพแบบเหมือนจริง (realist) ภาพแบบแอบสแตรค์หรือนามธรรม (abstract) และภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (impressionism) บางภาพจะมีชื่อภาพ และมี พ.ศ.ที่วาดภาพบอกไว้ บางภาพก็ไม่มีค่ะ
ภาพวาดฝีพระหัตถ์จริง 4 ภาพ ที่จัดแสดงอยู่ที่หออัครศิลปิน
ถ่ายผ่านกระจกมา ดูไม่ค่อยชัด ต้องไปดูของจริงเองนะคะ ^^ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นภาพที่สำเนามาค่ะ (ทั้งภาพวาดและภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เป็นภาพพระราชินีเยอะมากจริงๆ ค่ะ)
เอ่อออ คือ… เห็นผีพัดลมที่ตามมาหลอกหลอนไหมคะ…. ตอนไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ก็เจอผีพัดลมอยู่หลายจุด มาที่นี่ก็ยังตามมาหลอกหลอนกันอีก T^T เข้าใจว่าอากาศบ้านเรามันร้อน อยากให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าไม่เป็นการลำบากเกินไป หาทางซ่อนมันหน่อยเถอะค่ะ
มีพระราชนิพนธ์จัดแสดงอยู่ตรงมุมนี้ด้วยค่ะ
ถัดจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ ก็จะเป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ค่ะ พระองค์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จย่าที่โปรดการถ่ายภาพ และสมเด็จย่าได้พระราชทานกล้องถ่ายรูปตัวแรกให้พระองค์เมื่ออายุ 8 พรรษา เป็นกล้องยี่ห้อ Coronet Midget ซึ่งเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสดงในตัว นอกเหนือจากทรงชื่นชอบการถ่ายภาพแล้ว ยังทรงล้างฟิล์ม อัดขยายภาพภาพทั้งขาวดำและสีด้วยพระองค์เอง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาพวิจิตรศิลป์ (เน้นเรื่ององค์ประกอบ ความสวยงาม) และภาพถ่ายเพื่อการพัฒนา (เป็นภาพที่พระองค์จะนำมาใช้ในการทำงานพัฒนาต่อไป)
ส่วนตัวเอมชอบภาพนี้ค่ะ ชื่อภาพ “ในอ้อมพระกร”
เมื่อเดินวนครบรอบ เราก็จะไปอีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จัดแสดงประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติในด้านต่างๆ ตั้งแต่ที่เริ่มมีการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2528 แบ่งออกเป็น 4 สาขาด้วยกันค่ะ ประกอบไปด้วย สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม สาขาศิลปะการแสดง และสาขาวรรณศิลป์ ในชั้น 2 ส่วนนี้จะประกอบไปด้วย 2 ห้อง ห้องทางซ้ายมือจะเป็นห้องของสาขาทัศนศิลป์ และศิลปะสถาปัตยกรรม ห้องทางขวามือจะเป็นห้องของสาขาศิลปะการแสดง
เรามาชมห้องทางซ้ายมือกันก่อนเลยค่ะ ที่นี่ระบบไฟ แสง สี เสียง การแสดงหลายส่วนใช้ระบบเซนเซอร์นะคะ ต้องไปยืนใกล้ๆ แล้วไฟจะติด เสียงจะมา เห็นบางส่วนมืดๆ เดินเข้าไปก่อนเลยค่ะ ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวไฟเปิดตามมาเอง ^^
จากตรงบริเวณด้านหน้าที่มีทำเนียบชื่อศิลปินแห่งชาติในแต่ละปี พร้อมลายเซ็น เข้ามาด้านใน ก็จะมีผลงานพร้อมทั้งประวัติโดยย่อของศิลปินแห่งชาติแต่ละท่านจัดแสดงอยู่ค่ะ คุ้นๆ ไหมคะว่าภาพนี้ ฝีมือใคร ^^
ของท่านนี้ก็ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์มาก
ผลงานของท่านนี้ เห็นแล้วก็นึกออกทันทีเช่นกันค่ะว่าเป็นของใคร ^^
ในหมวดหมู่ของทัศนศิลป์ก็จะมีครบทุกด้านค่ะ ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และสื่อประสม สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บนี้นะคะ http://art2.culture.go.th/index.php ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นคนจัดทำขึ้นค่ะ
ในโซนของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม บางส่วนจะมีโมเดลผลงานให้ชมด้วยค่ะ
ออกจากห้องของทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรมมา อย่าเพิ่งรีบลงบันไดนะคะ เดินไปอีกด้านหนึ่งก่อน เป็นห้องเรื่องราวของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงค่ะ เข้าห้องมา พบกับทำเนียบกันก่อนเลย
ภายในห้องจะจัดแสดงประวัติและผลงานของแต่ละท่าน มีห้องเล็กที่เหมือนจะไว้สำหรับเปิดพวกสื่อต่างๆ ดูได้ค่ะ แต่พอดีเอมไปตอนใกล้จะปิดแล้ว เลยไม่ได้ลองเล่นดู
จากนั้นก็เดินลงบันไดวนกลับมาด้านล่างได้แล้วค่ะ ^^ ที่ชั้นล่างตรงนี้จะมีส่วนนิทรรศการที่จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ หรือพวกงานเขียนต่างๆ นั่นเองค่ะ เห็นไฟมืดๆ เปิดประตูเข้าไปเลยค่ะ เดี๋ยวไฟจะตามมา
ตรงส่วนนี้จะสำหรับศิลปินแห่งชาติบางท่านจะมีหนังสือที่เป็นผลงานวางอยู่ บางท่านก็จะเป็นสิ่งของที่ท่านใช้ประจำ
เดินออกมาจากห้องด้านวรรณศิลป์ ตรงเชิงบันไดเวียนจะมีมุมให้เราทำของที่ระลึกกลับบ้านได้ ของที่ระลึกที่ให้เราลองทำกันก็คือ ภาพพิมพ์ค่ะ
วิธีการก็ไม่ยากเลยค่ะ เอาสีดำที่เค้าเตรียมไว้ไม่ต้องมาก ปาดลงบนแผ่นสีดำ จากนั้นก็ใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งทับไปมา เพื่อให้สีติดบนลูกกลิ้งทั่วๆ จากนั้น ก็เอาลูกกลิ้ง ไปกลิ้งไปมาบนภาพที่เราเลือกให้ทั่วๆ ค่ะ อย่าให้เหลือช่องว่างนะคะ
เมื่อกลิ้งลูกกลิ้งบนภาพที่เราต้องการเรียบร้อย ก็ไปเอากระดาษขาวแผ่นใหญ่หน่อยที่เค้าเตรียมไว้ให้มาวางทับไปบนภาพ จากนั้น ก็เอาแท่งไม้ที่เค้าเตรียมไว้ให้ มาลากกดๆ ให้ทั่วแผ่น เพื่อให้สีติดดี สม่ำเสมอ อย่าลืมจับด้านบนกระดาษกันเลื่อนด้วยนะคะ จากนั้นก็ลอกออกมาค่ะ ลุ้นๆๆๆๆ
เสร็จเรียบร้อย เราได้ภาพในหลวงสวยงามมาคนละ 1 ภาพ ภาพต้นแบบที่มีให้เลือกจะมี 4 แบบนะคะ สวยๆ ทั้งนั้นเลย เลือกยากมาก ลอกออกมาแล้วเราเอาไปผึ่งลมไว้สักระยะ รอให้สีแห้งนะคะ ก่อนจะเอากลับบ้านค่ะ
ถ้าใครมีเวลา อย่าลืมหาโอกาสไปเที่ยวชมหออัครศิลปิน บ้างนะคะ อาจจะอยู่ไกลไปบ้าง แต่ไปแล้วเอมว่าคุ้มค่ามากจริงๆ ค่ะ จบจากชมหออัครศิลปิน อาจจะแวะไปชมไดโนเสาร์ต่อก็ดีเหมือนกันนะคะ เดี๋ยวไว้ว่างๆ เอมค่อยหาโอกาสรีวิวไดโนเสาร์มาให้ทุกคนได้รับชมกันค่ะ
ขอลากันไปด้วยพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2513)
“งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ เป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป”
ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาชมค่ะ ^^
ประสบการณ์มาเต็มแบบนี้ รับเสียงปรบมือจากเราไปเล้ย แปะๆๆ !!
ระดับความสนุก: ✩✩✩✩✩
เครดิต: aimonearth.blogspot.com