Mushroom Travel LINE
เราช่วยคุณได้
@mushroomtour
จันทร์ - เสาร์
9:00-22:00
อาทิตย์
9:00-18:00
Call Mushroom Travel
Call Center
02 105 6234
จอง 6 คนขึ้นไป
จอง 6 คนขึ้นไป
02 105 6244
Loading...

Travel Checklist เดินทางต่างประเทศ เตรียมของครบ จบในใบเดียว!

โพสเมื่อ

สำหรับนักเดินทางหลาย ๆ คน ที่กำลังวางแผนเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งมีข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากประเทศปลายทางมีการเพิ่มข้อกำหนดต่าง ๆ ออกมามากมาย เพื่อป้องกันให้ได้มากที่สุด จนส่งผลให้นักเดินทางเริ่มสับสนว่า จะเตรียมตัวและเก็บกระเป๋าเดินทางอย่างไร และอาจจะทำให้หลงลืมหยิบเอกสาร สิ่งของ และของใช้สำคัญได้ง่าย ๆ วันนี้ พี่เห็ด มัชรูมทราเวล มี Travel Checklist เดินทางต่างประเทศ ที่จะช่วยให้การเตรียมของเป็นเรื่องง่ายมาฝาก โดยจะแบ่งเป็น 5 กระเป๋าหลัก ดูตามนี้ได้เลยค่าาา

1. กระเป๋าของสำคัญ

Credit : canva.com

– การตรวจสอบมาตรการการเดินทาง หรือ ข้อจำกัดของประเทศปลายทาง รัฐบาลแต่ละประเทศ จะมีมาตรการและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป และอาจจะจำกัดประเภทของวีซ่า ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต้นทาง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศปลายทาง ซึ่งบางประเทศมีประจำการในประเทศไทย หรือเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต หรือ สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศปลายทาง โดยเอกสารส่วนใหญ่ที่หลาย ๆ ประเทศกำหนด้ไว้ใน Checklist เดินทางต่างประเทศ เพื่อเข้าประเทศนั้น ๆ เช่น

  • ประเภทวีซ่ ที่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ เมื่อทราบแล้ว ผู้เดินทางก็สามารถเตรียมเอกสารทำวีซ่าได้อย่างถูกต้อง
  • ใบรับรองแพทย์ (Fit to fly Health Certificate) ที่ยืนยันว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมาะสมต่อการเดินทาง
  • ใบรับรองผลการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ซึ่งบางประเทศปลายทางจะระบุจำนวนวัน หรือ ชั่วโมง ก่อนการขึ้นเครื่องบิน เช่น ต้องทราบผลตรวจเป็นลบไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมง เป็นต้น
  • หนังสือเซ็นยินยอมอนุญาตกักตัว ตามมาตรการกักตัวในประเทศปลายทาง โดยปัจจุบัน ศบค. กำหนดให้คนไทยจะต้องขอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry – COE) ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย และผู้โดยสารชาวไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไทย จะต้องสำรองที่พักในโรงแรม Altenative Quarantine (AQ) และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเองค่ะ บางประเทศมีข้อกำหนดว่า ผู้เดินทางต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบ 2 เข็มแล้ว และต้องมีเอกสารรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือเรียกว่า “วัคซีนพาสปอร์ต” ถึงจะสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีสถานที่ออกเอกสารรับรองอยู่  4 หน่วยงาน ในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลองดูว่าเพื่อน ๆ สะดวกที่ไหน เช่น
    1. คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี
    2. คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรุงเทพฯ
    3. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
    4. กองโรคติดต่อทั่วไป อาคาร 5 ชั้น 6 กรมควบคุมโรค จังหวัดนนทบุรี
  • หนังสือยินยอมจากทางสถานทูต เรื่องยารักษาโรคประจำตัว เพราะแต่ละประเทศอาจมียารักษาโรคประจำตัวบางชนิดที่ผิดกฎหมาย หากสถานทูตไม่ยินยอม จะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวใช้ยาอื่นทดแทนชั่วคราวก่อนค่ะ
Credit : Canva.com

– หนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต (Passport) ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานกองหนังสือเดินทางกระทรวงต่างประเทศ เป็นเอกสารสำคัญมาก เพราะใช้แสดงความเป็นตัวเรา และ บันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันอายุพาสปอร์ต มีแบบ 5 ปี และ 10 ปี พี่เห็ดแนะนำให้ตรวจสอบก่อน เก็บกระเป๋าเดินทาง อย่างละเอียดดังนี้ค่ะ

  • วันหมดอายุพาสปอร์ต ขอย้ำเลยว่า!! ห้ามลืมเช็กวันหมดอายุอย่างเด็ดขาด ก่อนที่จะทำวีซ่า และซื้อตั๋วเครื่องบิน โดยตามหลักสากลโลก นับวันและเดือนก่อนหมดอายุต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จวบจนวันเดินทางกลับ ถึงอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้
  • ตรวจข้างในพาสปอร์ตทุกหน้าอย่างละเอียด ห้ามมีการปั๊มตรา หรือ ขีดเขียนใด ๆ ลงในพาสปอร์ตเด็ดขาด! เพราะเพื่อน ๆ จะถูกสายการบินปฏิเสธการเช็กอิน หรือ ตม.ในหลายประเทศจะกักตัวไว้ และ ปฏิเสธการผ่านเข้าประเทศ เพราะถือว่าไม่ใช่ตราทางราชการ และ ไม่ได้ออกโดย ตม. ถือว่าพาสปอร์ตเล่มนั้นชำรุด และใช้งานไม่ได้ ขั้นรุนแรงที่สุดคืออาจจะถูก Blacklist ไปเลยก็ได้ค่ะ
  • หน้าปกพาสปอร์ตที่เป็นตัวหนังสือสีทอง และตราครุฑ อย่าให้มีการหลุดลอก เลือนหาย เด็ดขาด เพราะจะทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพาสปอร์ตจากประเทศอะไร พี่เห็ดแนะนำให้เก็บใส่ซองกันน้ำเอาไว้ เพื่อป้องกันการลืม อีกทั้งยังช่วยให้พาสปอร์ตไม่ชำรุดเสียหายอีกด้วยค่ะ
  • บัตรประชาชน ถึงแม้ว่าเพื่อน ๆ จะมีพาสปอร์ตแล้ว แต่ก็ต้องนำบัตรประชาชนติดตัวไปด้วยนะคะ เพราะระหว่างเดินทางไปและกลับสนามบิน เพื่อน ๆ ยังอยู่ประเทศไทย อาจจะเกิดอะไรขึ้นแล้วจำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนก็ได้ค่ะ
checklist เดินทาง ต่างประเทศ
Credit : Canva.com

– ตรวจสอบสายการบิน และ ออกตั๋วเครื่องบิน ที่จะใช้บริการเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ พี่เห็ดแนะนำให้ตรวจสอบอย่างละเอียด ดังนี้

  • วันที่และเวลาเดินทางที่บิน ทั้งขาออกและขาเข้า รวมถึง ใช้ระยะเวลาบินนานแค่ไหน บินตรง หรือ ต่อเครื่องที่ประเทศไหนบ้าง ก่อนถึงประเทศปลายทาง เอกสารที่ใช้ในการยืนยันตัวตน และขึ้นเครื่อง
  • มาตรการป้องกันโควิด-19 ของสายการบิน
  • น้ำหนักกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง และโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่อง
  • การบริการด้านอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่อง
  • หากมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องพกติดตัว ควรสอบถามกับสายการบินด้วย
  • สอบถามช่องทางการลงทะเบียน หรือเช็กอิน ผ่านช่องทางออนไลน์

การออกตั๋วเครื่องบิน เมื่อตรวจสอบสายการบินแล้ว ขั้นต่อมาคือการออกตั๋วเครื่องบิน ถึงแม้ในปัจจุบัน ตั๋วเครื่องบินเป็นแบบ Electronic Ticket แต่พี่เห็ดขอแนะนำว่า ควรพิมพ์เป็นเอกสารติดตัวไว้ด้วย จะดีกว่าเก็บไว้ในมือถืออย่างเดียวค่ะ เพราะบางทีอาจเผลอลบไป หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตขัดข้องค่ะ

checklist เดินทาง ต่างประเทศ
Credit : Canva.com

– เอกสารจองโรงแรม ให้พิมพ์เป็นเอกสารเตรียมไปด้วย เพื่อเป็นหลักฐานที่อยู่ หากมีเจ้าหน้าที่ ตม. หรือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ขอดูเอกสารการจองที่พัก เราก็สามารถแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทันที และใช้เอกสารจองโรงแรมนี้เข้าที่พักได้อย่างสะดวกราบรื่น

checklist เดินทาง ต่างประเทศ
Credit : Canva.com

– ประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ หรือ Comprehensive Travel Accident Insurance (CTA) ให้ความคุ้มครองที่หลากหลาย โดยคุ้มครองตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาลทั้งจากอุบัติเหตุ และความเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทาง และอยู่ต่างประเทศ การสูญเสียหรือล่าช้าของสัมภาระ และทรัพย์สิน ความล่าช้าของสายการบิน รวมถึงการถูกยกเลิก หรือการเปลี่ยนแปลงของสายการบิน และควรซื้อการประกันที่ครอบคลุมโรคโควิด-19 ด้วย 

พี่เห็ด ขอจัด ประกันภัยการเดินทาง ให้อยู่ใน Checklist เดินทางต่างประเทศ ด้วย เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพียงแค่เพื่อน ๆ ก้าวขาออกจากบ้านก็มีความเสี่ยงแล้ว อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วยิ่งเดินทางไปต่างประเทศ ยิ่งต้องสร้างความอุ่นใจ และความสบายใจ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ต่างประเทศนั้นมีราคาสูงมาก

checklist เดินทาง ต่างประเทศ
Credit : Canva.com

– เงินสดและบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก่อนออกเดินทาง เพื่อน ๆ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ประเทศปลายทางใช้เงินสดสกุลเงินอะไร แล้วเตรียมแลกไปก่อน วันเดินทางก็นำเงินสดสกุลนั้นพกติดตัวไปด้วย หากไม่เตรียมไป แล้วไปแลกที่ต่างประเทศ เพื่อน ๆ อาจจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า แต่ก็ไม่ควรแลกเงินสดติดตัวไว้มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ ผ่าน ตม.หรือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองยาก จนจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปได้ ดังนั้นควรเตรียมไว้แค่พอดีสำหรับเที่ยวจะดีกว่าค่ะ หากเพื่อน ๆ กลัวใช้จ่ายไม่พอ ก็ควรนำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ติดตัวไปด้วย เผื่อช้อปเพลิน จะได้มีบัตรไว้รูด ก็จะไม่เสียอารมณ์

2. กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์

Credit : Canva.com

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่นักเดินทางจะพกไปเที่ยวด้วยมีมากมาย แต่บางอย่างมีข้อจำกัดในการนำขึ้นเครื่องบิน ดังนี้

– มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน และการใช้อินเตอร์เน็ต เป็นปัจจัยที่ 5 ในยุคปัจจุบัน และสำคัญสำหรับคนเดินทาง เพราะมือถือเครื่องเดียวก็ช่วยได้ทั้งการถ่ายรูป ทำบันทึก แปลภาษา ดูแผนที่ หรือใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอัปเดตข่าวสารเมื่ออยู่ต่างประเทศ และยังให้ความบันเทิงระหว่างการเดินทาง ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง และอย่าลืมตรวจสอบการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตในประเทศปลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ซิมต่างประเทศ หรือ Pocket Wi-Fi ด้วยนะคะ

– พาวเวอร์แบงค์ สามารถนำขึ้นเครื่องได้ แต่ความจุและจำนวนที่พกพาต้องไม่เกินข้อกำหนด ตามมาตรฐานความปลอดภัยของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งข้อกำหนด มีดังนี้

  • ขนาดความจุ น้อยกว่า 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้โดย ไม่จำกัดจำนวนชิ้น
  • ขนาดความจุ มากกว่า 20,000 mAh แต่ไม่เกิน 32,000 mAh แบบนี้สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ไม่เกิน 2 ชิ้น
  • ขนาดความจุ มากกว่า 32,000 mAh ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ทุกกรณี

วิธีนำพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่องบิน กำหนดให้ถือติดตัวขึ้นไปบนชั้นโดยสารเท่านั้น ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่องในทุกกรณี

– กล้องถ่ายรูป จัดอยู่ใน Checklist เดินทางต่างประเทศ สำหรับใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ อย่าลืมใส่กระเป๋าไปด้วยนะคะ เพราะจะได้ภาพสวย ๆ บันทึกความทรงจำดี ๆ เมื่อเราดูย้อนหลัง โดยวิธีนำกล้องถ่ายรูปขึ้นเครื่องบิน ต้องถือติดตัวขึ้นไปบนชั้นโดยสารเท่านั้น ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่อง

– ที่แปลงหัวปลั๊ก แต่ละประเทศจะใช้ปลั๊กไฟที่แตกต่างกัน เพื่อน ๆ ควรเช็กข้อมูลประเทศปลายทางว่าใช้หัวปลั๊กแบบไหน หรือ เพื่อความอุ่นใจ ควรเตรียมปลั๊กไฟแบบ Universal ที่สามารถปรับใช้ได้หลายรูปแบบจะดีที่สุด เพราะถ้าไม่เตรียมไป จะไม่สามารถใช้ชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้

3. กระเป๋าสุขภาพ ยาสามัญ และ ชุดปฐมพยาบาล

Credit : Canva.com

– ยาสามัญ เป็นยาที่ซื้อเองได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดินทางต่างประเทศ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ ยาดม ยาหม่อง ยาแก้ไอ แก้แพ้ ยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องอืดจุกเสียด เกลือแร่ เป็นต้น สำหรับยาประจำตัวที่รักษาอาการป่วยเฉพาะ ควรเช็กกับทางสถานทูตก่อนว่าเป็นชนิดที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวใช้ยาชนิดอื่นทดแทนก่อนชั่วคราวค่ะ 

– ชุดปฐมพยาบาล ชุดเล็ก ๆ ได้แก่ น้ำเกลือ สำลี พลาสเตอร์ปิดแผล ผ้าก๊อซ ควรมีติดกระเป๋าเดินทางไว้ เผื่อเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ อาจจะเกิดอุบัติเหตุ และยังไม่มีคลินิก หรือ โรงพยาบาลใกล้ ๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น จะช่วยทุเลาอาการบาดเจ็บได้ค่ะ

4. กระเป๋าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย

Credit : Canva.com

การจัดกระเป๋าเป็นสิ่งสำคัญมากของการเดินทางเลยค่ะ เพราะต้องจัดน้ำหนักกระเป๋าให้อยู่ในข้อกำหนดตามตั๋วเครื่องบินที่เพื่อน ๆ ซื้อมา การแพ็คกระเป๋าขึ้นเครื่องบินแบ่งเป็น 2 แบบ คือ กระเป๋าถือติดตัวไปที่นั่งชั้นโดยสาร และ กระเป๋าใบใหญ่โหลดใต้ท้องเครื่อง ซึ่งน้ำหนักกระเป๋าจะเป็นไปตามแต่ละสายการบินกำหนด

– เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ก่อนออกเดินทางต้องเช็กสภาพอากาศก่อน เช่น ถ้าไปหน้าร้อน ควรเตรียมเสื้อผ้าเป็นผ้าฝ้าย หรือ เสื้อยืดธรรมดา ถ้าไปหน้าหนาว ควรเตรียม เสื้อโค้ท เสื้อคลุม เสื้อกันหนาว เสื้อไหมพรม ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้าแบบหนา ๆ เป็นต้น 

– รองเท้า ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของนักเดินทางเลย ควรเตรียมรองเท้าผ้าใบ หรือ รองเท้าหุ้มส้น เพราะมีความทนทาน และแข็งแรงกว่ารองเท้าไม่หุ้มส้นที่อาจชำรุด และฉีกขาดได้ง่ายกว่าค่ะ รองเท้าหุ้มส้นจะช่วยให้เพื่อน ๆ เดินทางไม่มีสะดุด ถ้าหากเพื่อน ๆไปฤดูหิมะตก ควรนำรองเท้าบูทหุ้มส้นชนิดกันน้ำ และมีฐานรองเท้ายึดเกาะหิมะด้วย

– ร่มพับเล็ก ๆ และ ชุดกันฝน ควรจัดติดกระเป๋าเดินทางโหลดใต้ท้องเครื่องไปด้วย ไว้ใช้ป้องกันแสงแดด ฝนตก หรือ หิมะตกค่ะ

5. กระเป๋าของใช้ส่วนตัว

Credit : Canva.com

– ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ผ้าอนามัย แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ น้ำตาเทียม เป็นยี่ห้อที่เราใช้ประจำ เพราะหากเพื่อน ๆ ลืม เวลาอยู่ต่างประเทศอาจหาซื้อไม่ได้ ส่วนของเหลวที่อยู่ในภาชนะบรรจุเกิน 100 มิลลิลิตร ให้จัดอยู่ในกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องเท่านั้นนะคะ

แนะนำว่าควรจัดของใช้ส่วนตัวชุดเล็ก เพื่อพกพาติดตัวถือขึ้นไปบนชั้นโดยสาร ให้จัดใส่กระเป๋าแบบใสใบเล็กมีซิปรูดเพื่อหยิบใช้สะดวก และเจ้าหน้าที่มองเห็นของเหลวชัดเจนเมื่อเวลาเข้าเครื่องสแกน อาจมีแปรงสีฟัน ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว ของเหลวถือขึ้นเครื่องจำกัดปริมาณให้อยู่ในภาชนะไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และหลายชิ้นรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร เท่านั้นค่ะ

Credit : Canva.com

– สมุดบันทึกข้อมูล และปากกา สำหรับจดข้อมูลสำคัญ ๆ อย่างเบอร์โทรฉุกเฉิน เวลาเดินทาง แผนการออกทริปของเพื่อน ๆ เผื่อเจ้าหน้าที่ในสนามบินถามว่าเดินทางมาทำอะไร ตั้งใจเเพลนไปเที่ยวที่ไหน จะได้อธิบายอย่างไม่มีติดขัด

พี่เห็ดทำใบ Travel Checklist มาแจก ใครอยากจะเซฟไว้ดู หรือพิมพ์ออกมาช่วยจัดกระเป๋า ก็จัดไปเลยจ้า

https://mushroomtravelpage.b-cdn.net/wp-content/uploads/2018/01/travel-checklist-Mushroom.png
และทั้งหมดนี้คือรายการเตรียมของที่พี่เห็ดได้รวบรวมเป็น Checklist เดินทางต่างประเทศ ให้เพื่อน ๆ ใช้เตรียมตัวเดินทาง และจัดเก็บกระเป๋าเดินทางได้ง่ายขึ้น เป็นตัวช่วยดี ๆ ที่จะทำให้ทริปนี้ไม่ลืมเอกสารและของใช้จำเป็น นอกจากนี้เพื่อน ๆ อาจเพิ่มกระเป๋าอุปกรณ์สร้างความบันเทิง กระเป๋าของกินติดตัว หรือกระเป๋าอุปกรณ์ถ่ายภาพ ตามความชอบของเราได้อีก แค่เช็กให้ครบ การเดินทางของเพื่อน ๆ ก็จะราบรื่นไม่มีสะดุดแน่นอน


ชอบ บทความ มัชรูมทราเวล ทำไงดี…?
1.กดแชร์ต่อ ให้เพื่อนอ่านบ้าง
2. คลิก Likeและติดตามเราได้ที่ Facebook www.facebook.com/mushroomtravel/

—————
Mushroom Travel มีโปรแกรม ทัวร์ต่างประเทศ ให้เลือกมากที่สุด
โทร. 02-105-6234 (30 คู่สาย)
[email protected]
Line id : @mushroomtravel

สินค้าที่เกี่ยวข้อง