ที่เที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ ในหลวง ร.9 ทั่วราชอาณาจักรไทย
ครั้งนี้ มัชรูมทราเวล ขอนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวทั่วราชอาณาจักรไทย ตามรอยเท้าพ่อ โดยเราจะพาไปเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนในราชอาณาจักรไทยตามภูมิภาคต่างๆ กันค่ะ ไปเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ ด้วยกันนะคะ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง มีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเสด็จผ่านดอยอ่างขาง ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขาหัวโล้น ชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นกัน เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศ จึงขอซื้อที่ดินจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท เพื่อใช้เป็นแหล่งวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา ให้หันมาปลูกทดแทนฝิ่น และพระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
โดยพระองค์ท่านมีพระราชดำริว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนา พันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีพื้นที่สำหรับวิจัย ทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาบริเวณโดยรอบสถานีฯ เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 3,215 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32 องศา ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศา ในเดือนมกราคม โดยในช่วงแรกๆ ที่จัดตั้งสถานีฯ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จะเสด็จเยี่ยมทุกปี เพื่อติดตามโครงการตามแนวพระราชดำริ
แผนที่ :
ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภายในเขตอุทยานภูหินร่องกล้า ภูมิทัศน์ของโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า อยู่ท่ามกลางภูเขาที่เขียวขจีและ มีอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี โดยวัตถุประสงค์ของโครงการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปลูกฟื้นฟูสภาพป่า เพาะชำกล้าไม้ แปลงปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า แปลงสาธิตปลูกสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทานปลอดสารพิษ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้อาศัยอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำ ส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ทำการเกษตรแบบการวนเกษตรเพื่อทดแทนการปลูกกะหล่ำปลี ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ในด้านการท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อม
สำหรับไฮไลท์ของการมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คือ การได้ยืนชมวิวผืนป่าอันเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตาตามผาต่างๆ ทั้ง 5 ผา ได้แก่ ผาพบรัก, ผาบอกรัก, ผาสลัดรัด, ผารักยืนยง, ผาคู่รัก และผาไททานิค รวมถึงชมทุ่งดอกกระดาษที่ผาพบรักที่จะบานอยู่ริมผาอย่างงดงาม ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของโครงการพระราชดำริภูหินร่องกล้า โดยจะบานในช่วงหน้าหนาวประมาณกลางเดือนมกราคม
แผนที่ :
อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี และได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี” พร้อมกับได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสนั้น เป็นทุนเริ่มดำเนินการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น จึงรับสนองพระราชดำริ ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2524 ที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง สำนักงานจังหวัดจันทบุรี กรมที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการชลประทานจังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน สำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม, กรมป่าไม้, กรมพัฒนาที่ดิน, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด, กรมปศุสัตว์ ฯลฯ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ นี้ มีพื้นที่เป้าหมายของโครงการอยู่ ณ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ครอบคลุมชายฝั่งทะเลโดยรอบ รวมกว่า 4,000 ไร่ โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษา วิจัย ทดลอง และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล พร้อมทั้งสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ทั้งยังส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้ในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสธรรมชาติ และพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตประมง ทำความรู้จักกับสัตว์น้ำ และต้นไม้นานาชนิด ที่คือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต ที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยจะได้เดินลัดเลาะตามเส้นทางธรรมชาติของป่าชายเลน รวมถึงถ้าใครอยากใกล้ชิดธรรมชาติให้มากขึ้นไปอีก ที่นี่ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้นอนเต็นท์ในพื้นที่รับรองของศูนย์ฯ อีกด้วย
แผนที่ :
โครงการชั่งหัวมัน จังหวัดเพชรบุรี
โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีขนาดพื้นที่โครงการราวๆ 250 ไร่ หากใครมีโอกาสได้มาเที่ยวทะเลที่ชะอำหรือหัวหิน ก็ไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเข้าไปศึกษาและเยี่ยมชมนะคะ สำหรับความเป็นมาของที่นี่ เริ่มจากตอนที่ตอนพระองค์ท่านประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล มีชาวบ้านที่มาเข้าเฝ้าติดเอาหัวมันเทศมาด้วยและทูลเกล้าถวาย ช่วงนั้นพระองค์ ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เลยรับสั่งให้ เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน จากนั้นก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ เวลาล่วงเป็นเดือน เมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศนั้น งอกเป็นต้นขึ้นมา จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการชั่งหัวมัน
พื้นที่เกษตรของโครงการประกอบด้วยแปลงปลูกพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ แปลงปลูกผักสวนครัว แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง แปลงปลูกมันเทศ รวมถึงแปลงปลูกผลไม้อย่าง แก้วมังกร สับปะรดพันธุ์ต่างๆ มีแปลงทดลองการทำเกษตรผสมผสาน และทำเป็นศาลาพักผ่อนด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนของฟาร์มโคนม ทุ่งกังหันลมที่มีพื้นที่ใต้กังหันไว้สำหรับปลูกหญ้าเลี้ยงวัว แผงโซลาร์เซลล์ โรงเพาะเห็ดโดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และในส่วนของพื้นที่ที่ยังไม่มีการปลูกพันธุ์พืชก็จะทำไร่ปอเทือง เพื่อเป็นการปรับหน้าดินให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จนกว่าจะมีแผนการใช้ที่ดินในภายหลัง มีบริการจักรยานให้ผู้ที่สนใจอยากปั่นจักรยานชมบรรยากาศรอบๆ พื้นที่ด้วยตัวเอง
เป้าหมายของโครงการช่างหัวมันตามพระราชดำริ คือต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน ภายในยังมี “ทะเบียนบ้านเลขที่ 1” ซึ่งเป็น บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่
นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศธรรมชาติแบบสุดลูกหูลูกตา ล้อมรอบด้วยภูเขา พื้นที่การเกษตรต่างๆ และปศุสัตว์ กังหันผลิตไฟฟ้า โดยจะมีรถรางพานำชมทั่วไร่ และห้องชมวีดิทัศน์ของโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านการเกษตรอีกด้วย โดยจะมีเจ้าหน้าที่หรือวิทยากรมาบรรยายและให้ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการและฉายวีดิทัศน์ข้อมูลที่น่าสนใจให้ชม ก่อนจะพาไปเยี่ยมชมพื้นที่โครงการจริงๆ
เสร็จจากการเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรของโครงการทั้งหมดแล้ว ก็สามารถแวะเข้าไปชมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากโครงการได้ในร้านโกลเด้นเพลส มีทั้งผักผลไม้สดๆ นมสด สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ สินค้าแปรรูปต่าง ไว้ให้ผู้มาชมโครงการได้ซื้อกลับไปบริโภคหรือเป็นของฝาก
แผนที่ :
ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
ป่าพรุโต๊ะแดง ชื่อเดิมของ ป่าพรุสิรินธร ในปัจจุบัน เป็นป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุด ที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย เนื้อที่ของป่ามีความกว้างประมาณ 8 กิโลเมตร และมีความยาวประมาณ 28 กิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมอาณาเขตของอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ มีแหล่งน้ำสำคัญ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำบางนรา, คลองสุไหงปาดี และคลองโต๊ะแดง ซึ่งป่าแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด หลายชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่รอบๆ ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ยาง และผลไม้ต่าง ๆ โดยมีศูนย์วิจัยและศึกษาพันธ์ป่าพรุสิรินธร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโกลก ภายในศูนย์ฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่าใจกลางป่าพรุ ยาวกว่า 1,200 เมตร มีหอคอย และศูนย์บริการข้อมูล ตลอดจนซุ้มแสดงประวัติและข้อมูลของพืช และสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่ป่าพรุโดยรอบ ใช้เวลาเดินประมาณ 45 – 60 นาที
สำหรับโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับป่าพรุแห่งนี้ คือ โครงการแกล้งดิน สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่าหลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุ เพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทําการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทําให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดําริ ให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปี ให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คํานึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ ชมธรรมชาติอันสมบูรณ์ของป่าพรุโต๊ะแดง มัชรูมทราเวล แนะนำให้มาช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุด ทำให้สามารถเดินชมป่าพรุได้สะดวกสบายกว่าช่วงเวลาอื่น อย่าลืมพกคู่มือดูนก สมุดบันทึก ดินสอสี กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายรูป และยาทากันยุงไปด้วย อาจเพลิดเพลินอยู่ภายในป่าพรุได้ตลอดทั้งวัน ที่นี่เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชมค่ะ
แผนที่ :