บทความนี้พี่เห็ด มัชรูมทราเวล จะพาไปทำความรู้จักกับ รถไฟด่วนพิเศษ อุตราวิถี ในเส้นทางสายเหนือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่ใช้รถไฟตู้นอนใหม่เอี่ยม เริ่มให้บริการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับใครที่อยากไปแอ่วเหนือด้วยการนั่งรถไฟ เพราะทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อรถไฟตู้นอนล็อตใหม่มาจากประเทศจีนถึง 115 คัน ไม่ได้เป็นการใช้ตู้รถไฟมือสองจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นการซื้อรถไฟตู้นอนใหม่เอี่ยมครั้งแรกในรอบ 20 ปีของไทยเลยทีเดียว! บอกเลยว่าเดินทางสะดวก หลับสบาย ใครยังไม่เคยเดินทางด้วยรถไฟตู้นอนแบบนี้ พี่เห็ดจะพาไปชมว่ามีความพิเศษยังไงบ้าง
สำหรับรถไฟโดยสารปรับอากาศทั้ง 115 คัน ผลิตโดยบริษัท CNR Changchun Railway Vehicles Co., Ltd (โรงงานฉางชุน) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งแต่เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีรถไฟตู้นอนให้บริการอยู่แล้ว แต่เนื่องจากรถไฟตู้นอนแบบเดิมมีอายุการใช้งานมากและถึงเวลาหาของใหม่มาใช้แทนของเก่านั่นเอง
สำหรับรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 115 คันนี้ ประกอบไปด้วย
1. ตู้นอนชั้นหนึ่ง (รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1) จำนวน 9 คัน
2. ตู้นอนชั้นสอง (รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2) จำนวน 88 คัน โดยในจำนวนนี้มี 9 คันที่มีระบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นและผู้สูงอายุ
3. ตู้เสบียง (รถปรับอากาศขายอาหาร) จำนวน 9 คัน
4. รถผลิตกระแสไฟฟ้า (รถปรับอากาศไฟฟ้ากำลัง) จำนวน 9 คัน
รถเหล่านี้จะถูกนำมาเรียงต่อกันเป็นขบวน โดยในการให้บริการต่อ 1 ขบวน จะมีตู้ต่างๆ เป็นชุด ประกอบด้วย ตู้นอนชั้นหนึ่ง 1 คัน, ตู้นอนชั้นสอง 9 คัน, ตู้นอนชั้นสองที่มีระบบรองรับรถเข็นสำหรับผู้พิการ 1 คัน, ตู้เสบียง 1 คัน และตู้ไฟฟ้ากำลัง 1 คัน รวมเป็น 13 คัน (ไม่รวมหัวจักรที่ใช้ลาก) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 420 ที่นั่ง
รถไฟรุ่นใหม่นี้ให้บริการใน 4 เส้นทาง คือ
– อุตราวิถี กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
– อีสานวัตนา กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ
– อีสานมรรคา กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ
– ทักษิณารัถย์ กรุงเทพ-หาดใหญ่-กรุงเทพ
สำหรับใครที่จะไป เที่ยวเหนือ ด้วยรถไฟเส้นทาง อุตราวิถี 9 หรือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ สถานีต้นทางคือ สถานีกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง ส่วนสถานีปลายทางจะไปสิ้นสุดที่ สถานีเชียงใหม่
ความพิเศษและสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจของรถไฟล็อตใหม่
1. จอ LCD สุดไฮเทค รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 มีการติดตั้งจอ LCD ระบบสัมผัส ขนาด 14 นิ้ว สำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง จะเรียกว่าเป็นจอ LCD ส่วนตัวก็ว่าได้ เพื่อแจ้งข่าวสาร แสดงสถานะว่าตอนนี้รถไฟถึงสถานีไหน และมีระบบมัลติมีเดียเพื่อความบันเทิงระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้ก็ยังมีระบบนาฬิกาปลุก ที่สามารถตั้งปลุกได้ทั้งตามเวลาและตามสถานี รวมถึงยังสามารถใช้หน้าจอนี้เพื่อกดสั่งอาหารจากตู้เสบียงได้โดยตรง จากนั้นจะมีพนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้ถึงที่เลยค่ะ ส่วนรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 มีการติดตั้งจอ LCD ขนาดใหญ่ 4 จอ ไว้เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้โดยสาร เช่น การแจ้งตำแหน่งสถานี ตำแหน่งรถ แจ้งเตือนระยะเวลาถึงสถานีปลายทาง และมีวิดีโอต่างๆ ฉายวนไปแบบจอรวมในเครื่องบินค่ะ
2. มีระบบอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น รถไฟทุกขบวนจะมี 1 ตู้ที่มีระบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำขนาดใหญ่ที่เอารถเข็นเข้าไปได้ ทางเดินกว้างขวาง และลิฟต์บริเวณประตูที่ยกรถเข็นขึ้นลงพื้นชานชาลาได้ทุกแบบ นอกจากนี้ยังมีบริการวีลแชร์สำรองสำหรับผู้พิการและผู้สูงวัย และอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วยค่ะ
3. มีห้องอาบน้ำสำหรับตู้นอนชั้น 1 ห้องอาบน้ำที่ไม่ได้มีแค่ฝักบัวธรรมดาๆ แต่มาพร้อมน้ำอุ่นเลยค่ะ
4. มีปลั๊กไฟทุกที่นั่ง ต่อไปนี้ก็โบกลาปัญหาแบตเตอรี่มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คหมดได้เลย
5. สุขาระบบปิด รถไฟชุดที่เคยใช้กันอยู่จะเป็นสุขาระบบเปิด คือของเสียจากสุขาจะถูกปล่อยลงบนทางรถไฟ แต่รถไฟชุดใหม่ในเส้นทาง อุตราวิถี นี้มีระบบเก็บของเสียที่มิดชิด ระบบสุญญากาศแบบเครื่องบิน ทำให้สามารถใช้บริการสุขาได้แม้ว่าจะเป็นช่วงที่รถจอดอยู่ที่สถานี
6. มีกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยทุกตู้ รถแต่ละคันจะมีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้โดยรอบ ตู้ละ 4 กล้องเพื่อช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร
7. เทคโนโลยีใหม่ รถไฟชุดนี้มีเทคโนโลยีใหม่หลายอย่าง เช่น ระบบการผลิตไฟฟ้าจาก Power Car แล้วจ่ายไฟฟ้าให้ทั้งขบวน รวมทั้งระบบแอร์ที่เชื่อมทั้งขบวนเข้าด้วยกัน จึงทำให้ประหยัดพลังงาน (เดิมในรถทุกคันของการรถไฟ จะมีเครื่องปั่นไฟสำหรับจ่ายไฟและระบบปรับอากาศในตัว) และด้วยระบบกันสะเทือนแบบรถไฟความเร็วสูงทำให้เงียบกว่ารถแบบเดิม ส่วนระบบเบรกก็เปลี่ยนมาใช้ระบบดิสก์เบรกแบบเดียวกับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า จึงมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แถมข้อต่อของรถก็เป็นแบบใหม่ สามารถเดินทะลุกันได้ทั้งขบวน (ยกเว้นรถไฟฟ้ากำลัง และรถนอนชั้น 1 ที่จะมีประตูเชื่อมตู้แค่ฝั่งเดียว) ประตูสัมผัสเพื่อเปิดระหว่างตู้ ข้อต่อสนิทแบบรถไฟฟ้า BTS
8. เร็วขึ้น ถึงไวกว่าเดิม รถไฟชุดนี้ตัวโบกี้สามารถรองรับการทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จะวิ่งอยู่ที่ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการให้บริการค่ะ นอกจากนี้ยังหยุดจอดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งจะยิ่งทำให้ถึงที่หมายปลายทางเร็วขึ้น
เห็นรถไฟคันใหม่ที่ดูหรูหรา น่านั่งขนาดนี้ทำให้การเดินทางดูมีความสุขและสะดวกสบายขึ้นเยอะ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเดินทางที่ดี สำหรับสายชิลที่อยากนั่งรถไฟไปเรื่อยๆ ใครที่สนใจไป เที่ยวเหนือ ด้วยการนั่งรถไฟด่วนพิเศษ สามารถเช็กเวลาการเดินรถ และ จองตั๋วรถไฟ ได้ที่ >> การรถไฟแห่งประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย