ปราสาทซึรุงะ ปราสาทประวัติศาสตร์ คุณค่าที่ชื่นชมได้ทั้งปี
สุดยอดปราสาทเอกลักษณ์หนึ่งเดียวญี่ปุ่นจะสวยขนาดไหน ไปชมกันเลยดีกว่า
หากพูดถึงหลังคาแดงแล้ว คนไทยเกือบทั้งประเทศมักจะคิดถึงโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตซะมากกว่า แต่คงไม่ใช่สำหรับปราสาทซึรุงะ ปราสาทที่มีหลังคาสีแดงแบบดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้แน่ๆ ปราสาทซึรุงะตั้งอยู่ที่เมืองไอสึ-วะคะมะซึ ( Aizu-wakamatsu) จังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) สร้างขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1384 โดยตระกูลอะชินะ (Ashina Clan) ซึ่งให้ชื่อแรกว่า ปราสาทคุโระคะวะ ภายหลังตกอยู่ภายใต้การครอบครองของยอดไดเมียวแห่งโทโฮะคุ ดะเตะ มะซะมุเนะ ก่อนที่จะส่งต่อให้กับโทะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิ ในค.ศ. 1590 จนกระทั่งตกทอดมาถึง กะโม อุจิซะโตะ (Gamo Ujisato) และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ปราสาทซึรุงะ (Tsuruga Castle) หรือ Tsuruga-jo (คำว่า jo หมายถึง ปราสาท)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้ผ่านเรื่องราวและสงครามมาอย่างโชกโชน เพราะปราสาท ทสึรุงะ เป็นศูนย์รวมการปกครองทางทหารในแถบเมืองไอสึ-วะคะมะซึ จังหวัดฟุกุชิมะ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อราวศตวรรษที่ 14 – 19 ยิ่งช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิดการทำสงครามกลางเมืองไอสึ (Battle of Aizu) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโบชิน หรือ Boshin War โดยชาวซามูไร ต้องการคืนอำนาจให้กับจักรพรรดิหลังจากถูกระบอบโชกุนครอบงำอยู่นาน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงจากยุคเอโดะ (Edo Era) มาเป็นช่วงของการปฏิรูปยุคเมจิ (Meiji Era) แล้วการต่อสู้ของเหล่าซามูไรที่มีแค่มือถือดาบหรือ จะไปสู้กับทหารปืนรบทันสมัยโดยได้รับความร่วมมือจากชาวต่างชาติเป็นอย่างดีได้ เรื่องราวเหล่านี้จึงกลายเป็นตำนานแห่งศักดิ์ศรีของชาวซามูไรที่เมืองไอสึวะคะมะซึ
ในปีค.ศ. 1611 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ปราสาทเสียหายไปอย่างมากและก็เริ่มเอียง จึงได้มีการบูรณะโดยเจ้าของปราสาทคนใหม่ โยชิอะคิ คาโตะ (Yoshiaki Kato) ในปีค.ศ. 1627 และปรับจากปราสาท 7 ชั้น เหลือเพียง 5 ชั้น และปราสาท 5 ชั้น ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยคอนกรีตในปีค.ศ. 1965 และบูรณะเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีค.ศ. 2011 โดยมีลักษณะที่โดดเด่นอยู่อย่างหนึ่งก็คือ หลังคาของปราสาทที่ยังคงรูปแบบของกระเบื้องสีแดงอย่างปราสาทดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันปราสาทซึรุงะ เป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่ยังคงรูปแบบหลังคากระเบื้องสีแดงไว้อยู่
ปัจจุบัน “ปราสาทซึรุงะ” ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองไอสึ-วะคะมะซึ ที่มีการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของปราสาทแห่งนี้ รวมถึงวิถีชีวิตของเหล่าซามูไร รวมทั้งเครื่องเขินและดาบโบราณต่างๆ โดยชั้นหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ครองแคว้นแห่งนี้แต่ละคน ชั้นที่ 2 เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในสมัยเอโดะและศิลปะ หัตถกรรมของคนในแถบไอสึ และชั้นที่ 3 บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโบชิน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถขึ้นไปชมจุดชมวิวชั้นบนสุดของปราสาท จะเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขารอบด้าน และยิ่งถ้าวันไหนอากาศดีจะมองเห็นภูเขาบันได (Mt. Bandai) ได้อย่างเต็ม 2 ตา หรือจะเดินออกมาชมบริเวณรอบนอกปราสาทก็เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะ ที่ผู้คนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจกับการชื่นชมกำแพงหินอันใหญ่โต เหมาะแก่การถ่ายรูปแบบฮิปสเตอร์เป็นอย่างยิ่ง แต่บอกก่อนนิดว่า จะถ่ายอะไรก็รีบถ่ายนะจ้ะ เพราะเมื่อเข้าไปข้างในเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายแล้วนะ
ปราสาทซึรุงะเปิดให้เข้าชมได้ตลอดทั้งปี ค่าเข้าชมเพียง 400 เยน หรือประมาณ 120 กว่าบาทเท่านั้น ถูกกว่าค่าอาหารบางมื้อซะอีกตัวเธอ… สำหรับใครที่ชื่นชอบความเย็นยะเยือกแบบขั้วโลกเหนือ ขอแนะนำว่าห้ามพลาดที่นี่ในช่วงฤดูหนาวเด็ดขาด เพราะจะมีหิมะตกปกคลุมตัวปราสาทและสวนสาธารณะขาวโพลนแบบหลุดไปอยู่กับเจ้าหญิงเอลซ่าเลยทีเดียวหรือถ้าโชคดีอาจจะเจอคูน้ำรอบปราสาทแข็งจนอยากจะขึ้นไปไถสเก็ตเล่น แต่ถ้าหากใครไม่คุ้นชินกับความหนาวละก็… ในช่วงฤดูใบไม้ผลิก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่คนนิยมมาเที่ยว เพราะเป็นจุดที่ถือว่าเป็น 1 ใน 100 จุดชมซากุระที่สวยงามที่สุดในญี่ปุ่น มีต้นซากุระให้ชมกว่า 1,000 ต้นในสวนของปราสาทอีกด้วย
หรือหากใครไม่อินกับธรรมชาติ ที่นี่ก็มีกิจกรรมระบายสีสารพัดสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ม้า เสือ งู กระต่าย ฯ แต่ที่ฮิตสุดๆ คงจะหนีไม่พ้นเจ้าตุ๊กตาวัวแดง อะกะเบโกะ (Akabeko) ซึ่งเป็นสัตว์นำโชคของคนไอสึ นั่นเอง
ปราสาทซึรุงะ (Tsuruga Castle) เป็นปราสาทที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และยังมีอีกหลากหลายชื่อที่ใช้เรียกปราสาทแห่งนี้ เช่น ปราสาทไอสึ-วะคะมะซึ ปราสาทคุโระคะวะ หรือ ชื่อที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า “ปราสาทนกกระเรียน” (คำว่า Tsuru แปลว่า นกกระเรียน) แต่ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหน ปราสาทแห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่ผสานตำนานความกล้าหาญของซามูไรกลุ่มสุดท้ายแห่งญี่ปุ่น พร้อมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รอให้ทุกคนมาสัมผัสความงามที่แท้จริงของอารยธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย